โฆษกกลาโหม แจงเหตุผลจ้างตรวจจีที 200 ทำตามคำแนะนำ เพื่อใช้ต่อสู้คดีฟ้องในศาล ด้านนักวิชาการ ถามกลับตรวจซ้ำทำไม รู้อยู่แล้วใช้งานไม่ได้
จากกรณี ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายเปิดข้อมูลการใช้งบฯ กระทรวงกลาโหม ที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ อ้างอิงถึงการที่กองทัพบกทำสัญญาจ้าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ตรวจเครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง วงเงินกว่า 7 ล้าน 5 แสนบาท ทำให้ประเด็นการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง
วันนี้ (4 มิ.ย.2565) พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุว่า การตั้งงบฯ ของกองทัพบกในเรื่องนี้ สืบเนื่องจากกองทัพบก ได้ฟ้องบริษัทผู้ขายกับพวกรวม 5 คน ฐานร่วมโกง โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ตัดสินชี้มูลมาแล้วว่า จำเลยมีความผิด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
ส่วนคดีทางปกครอง ศาลปกครองกลางได้สั่งให้ผู้ขายต้องชำระหนี้กับกองทัพบก เป็นเงิน 683 ล้านบาท แต่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุด แนะนำให้กองทัพบก ตรวจเครื่องจีที 200 จำนวน 757 เครื่อง เพื่อยืนยันว่าทุกเครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เพราะถือเป็นสาระสำคัญของคดี
โดยให้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ และมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบเรื่องไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และวิเคราะห์ประมวลผล รวมถึงผ่าพิสูจน์ตัวเครื่อง ทำให้กองทัพบก ว่าจ้าง สวทช. ตามที่เสนอราคามา โดยปี 2564 ใช้งบฯ 3,200,000 บาท และปี 2565 อีก 4,300,000 บาท
ย้อนปัญหาการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ได้รับความสนใจขึ้น หลังจากหลายประเทศระงับใช้งาน เพราะผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์พบว่า ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง และบริษัทผู้ผลิตถูกศาลอังกฤษดำเนินคดีเมื่อปี 2556 โดยข้อมูลจาก ส.ส.พรรคก้าวไกลอ้างว่า หน่วยงานต่าง ๆ ในไทย จัดซื้อเครื่องจีที 200 เมื่อ 14 ปีที่แล้ว รวม 848 เครื่อง ในจำนวนนี้กองทัพบกจัดซื้อ 757 เครื่อง
2012ua.net
|