[x] ปิดหน้าต่างนี้
Powered by ATOMYMAXSITE 2.5
วิทยาลัยเทคโนโลยีโซ่พิสัย
เมนูหลัก
หน่วยงานในวิทยาลัย
ข้อมูลพื้นฐานวิทยาลัย
งานนโยบายและแผนฯ
ระบบสมาชิก
Username :
Password :
[ สมัครสมาชิก ] | [ ลืมรหัสผ่าน ]
สมาชิกทั้งหมด 84 คน
สมาชิกที่กำลังออนไลน์ 0 คน
หน่วยงานต่างๆ
poll

   คุณคิดว่าเวปนี้เป็นอย่างไร


  1. ดีมาก
  2. ดี
  3. ปานกลาง
  4. แย่
  5. แย่มาก



 

  

   เว็บบอร์ด >> ห้องนั่งเล่น >>
Wendigo Psychosis | อยากกินเนื้อมนุษย์  VIEW : 120    
โดย หยาดฟ้า

UID : ไม่มีข้อมูล
โพสแล้ว : 795
ตอบแล้ว :
เพศ :
ระดับ : 22
Exp : 88%
เข้าระบบ :
ออฟไลน์ :
IP : 27.55.69.xxx

 
เมื่อ : พุธ ที่ 2 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2566 เวลา 21:01:30    ปักหมุดและแบ่งปัน

Wendigo Psychosis | อยากกินเนื้อมนุษย์

ตามตำนานพื้นบ้านจากคติความเชื่อของชาวอินเดียนแดง (Native American) ที่เล่าขานกันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 บอกไว้ว่า ในป่าลึกท่ามกลางความหนาวเย็นและเงียบสงัดเป็นที่อยู่ของปีศาจโบราณน่าหวาดกลัว พวกมันเป็นวิญญาณหิวกระหายเลือดเนื้อ Wendigo Psychosis ที่คอยจ้องสิงสู่คนพื้นเมืองผู้โชคร้ายและแปลกแยกจากเผ่า เมื่อถูกครอบงำมันจะกระชากสันดานดิบเถื่อนจากเบื้องลึกในจิตใจที่ดำมืด ให้โผล่พ้นออกมาเยี่ยงเดรัจฉานร้ายจนไม่หลงเหลือความเป็นคนอีกต่อไป มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่มันต้องการเป็นอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงให้วิญญาณและร่างดำรงอยู่ได้ นั่นคือกัดกินเนื้อมนุษย์เป็นๆ

     จากตำนาน อาจให้ความรู้สึกราวกับเป็นเรื่องปรำปราใช้หลอกเด็กไร้เดียงสามากกว่า แต่เรื่องเหลือเชื่อเหนือจริงที่สืบต่อกันมาเป็นร้อยๆ ปีทำนองนี้แหละ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอาการป่วยทางจิตเวชที่เกิดจากอิทธิพลความเชื่อและวัฒนธรรมประจำถิ่น (Culture-Bound Syndrome, Culture-Speciffiic Syndrome หรือ Folk Illness) ซึ่งมีรากฐานมาจากความกลัวที่ฝั่งอยู่ในใจของคนทุกรุ่นจนถึงปัจจุบัน

ปีศาจโบราณและความเกรงกลัวของชนเผาอินเดียนแดง

     ย้อนกลับไปก่อนที่อเมริกาจะถูกค้นพบ Algonquian หรือกลุ่มชนเผ่าอินเดียนแดงทางเหนือที่อาศัยอยู่ตามแนวพรมแดนระหว่างอเมริกาเหนือและแคนาดาในปัจจุบัน ทั้งเผ่าครี (Cree) เผ่าซอเทก (Salteaux) เผ่าโอจิบวี (Ojibwe) และเผ่าอินนู (Innu) ทั้งหมดมีความเชื่อตรงกันเกี่ยวกับปีศาจโบราณที่ชื่อเวนดิโก หรืออาจเรียกว่าWihtigo และ Witiko ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะการออกเสียงของแต่ละเผ่า

     ถึงแม้ว่าจะมีชาวอินเดียนแดงบางเผ่านิยมกินเนื้อมนุษย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะ โดยเฉพาะร่างของศัตรูที่พ่ายแพ้หลังการต่อสู้ระหว่างเผ่าสิ้นสุดลง แต่เรื่องราวของWendigoนั้นต่างออกไป เดิมทีมันเป็นเพียงวิญญาณเร่รอนที่หลบซ่อนอยู่ในป่าลึก และรอคอยโอกาสเข้าสิงคน ก่อนจะแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นปีศาจเพื่อออกล่าหาเนื้อมนุษย์มากินเป็นอาหาร การเป็นตำนานที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ เรื่องลึกลับทางจิตวิญญาณ ธรรมชาติ และสิ่งชั่วร้าย ทำให้Wendigoแตกต่างจาก Human Cannibalism เพราะมันเป็นปีศาจหรืออมนุษย์ที่กินคน ไม่ใช่มนุษย์กินคนทั่วไป

     ในอดีต ชาวอินเดียนแดงแต่ละเผ่ารับรู้ถึงการมีอยู่ของปีศาจเวนดิโก ผ่านการบอกเล่าเท่านั้น เพราะการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ความเชื่อและวัฒนธรรมอินเดียนแดงไม่เคยค้นพบหลักฐานใดที่บันทึกเรื่องราวของ เวนดิโก ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน แม้แต่รูปร่างของมันแต่ละเผ่าก็ยังบอกไม่เหมือนกัน บ้างก็บอกว่าเป็นสัตว์สองเท้าตัวใหญ่คล้ายมนุษย์ มีหัวเป็นกวาง หมี หรือสิงโต ส่วนลำตัวเป็นซากสัตว์ที่มีผิวหนังหลุดรุ่ยชุ่มเลือดจนเผยให้เห็นอวัยวะภายในและกระดูก บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ที่มีขนขึ้นหนาจนปกคลุมไปทั่วทั้งร่าง บ้างก็ว่าเป็นคนแต่มีลักษณะผิดมนุษย์เพราะร่างกายของมันคล้ายคลึงกับสัตว์สี่เท้าที่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว รวมถึงมีฟันและกรงเล็บที่แหลมคมเพื่อใช้ฉีกเนื้อเหยื่อออกเป็นชิ้นๆ โดยเฉพาะ

ขณะที่นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาตำนานพื้นบ้านของชาวอินเดียนแดงต่างตั้งสมมติฐานว่าอาจไม่ได้เป็นปีศาจร้ายอย่างที่ชาวอินเดียนแดงหลงเชื่อ แต่น่าจะเป็นคนจริงๆ ที่เคยเป็นสมาชิกในเผ่าอินเดียนแดงเผ่าใดเผ่าหนึ่งมาก่อนมากกว่า ซึ่งอาจถูกขับไล่หรือเนรเทศเพราะมีความประพฤติผิดร้ายแรงหรือมีความผิดปกติบางอย่างที่คนอื่นๆ ไม่ให้การยอมรับ ทำให้คนนั้นต้องหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าที่ห่างไกลจากเผ่าเดิมเพียงลำพังแทน ความโดดเดี่ยวและเปลี่ยวเหงาทำให้เขาต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย อาจเริ่มต้นจากการออกล่าสัตว์เล็กๆ เพื่อนำเนื้อมาทำอาหาร จนไปถึงล้มสัตว์ใหญ่เพื่อถลกหนังมาทำเป็นเครื่องนุ่มห่ม และนำชิ้นส่วนอื่นๆ อย่างกระดูก และหัวกะโหลกที่มีเขายาวแหลมมาทำเป็นอาวุธ

     ต่อมาเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวที่กินเวลายาวนาน หากไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า จะกลายเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตจะประสบกับความยากลำบากและทรมาน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร เงื่อนไขนี้เองที่อาจบีบบังคับให้เขาทำสิ่งชั่วร้ายที่สุดนั่นคือการฆ่าคนเพื่อเป็นอาหารประทังชีวิต นอกจากนี้เขายังได้เปรียบเรื่องความคุ้นชินพื้นที่ป่าเพราะอยู่อาศัยมานานมากพอจนรู้เส้นทางอย่างดี จึงทำให้สังหารคนได้ง่ายขึ้น ความเป็นไปได้ที่จะปล่อยให้เหยื่อรอดตายและหนีจากไปจึงมีน้อยมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเลย ดังนั้น คนที่รอดชีวิตมาได้อาจเกิดการอาการหลอนและหวาดวิตกสุดขีดหลังจากพบเจอเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัวและโหดร้าย ทำให้สร้างและประติดประต่อเรื่องราวที่ไม่ตรงกับความจริง จนเกิดเป็นตำนานปีศาจเวนดิโก ที่เล่าขานกันปากต่อปากมากกว่าจะเชื่อว่าเป็นการกระทำอันป่าเถื่อนของคนด้วยกันเอง

     เมื่อนักล่า นายพราน นักสำรวจ และนักเดินทางเข้าไปในป่าแล้วหายตัวไป ความเชื่อเรื่องปีศาจเวนดิโก จึงแทบจะกลายเป็นเหตุผลเดียวที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ทำนองนี้ มากกว่าการประสบอุบัติเหตุทางธรรมชาติ เช่น พลัดตกเขา หรือการถูกสัตว์ป่าทำร้ายและบาดเจ็บจนตายเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้นการเคารพต่อจิตวิญญาณและพลังของธรรมชาติ ยังเร่งเร้าให้ชาวอินเดียนแดงแสดงความเกรงกลัวต่อปีศาจ Wendigo เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นคติความเชื่อทางสังคมและวัฒนธรรมของวิถีชีวิตในที่สุด โดยเฉพาะยามประสบภาวะอดอยากเพราะขาดแคลนอาหารและผลิตผลทางการเกษตร แต่ละชนเผ่าจะประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า Wiindigookaanzhimowin ซึ่งสมาชิกในเผ่าจะสวมหน้ากากและเต้นถ้อยหลังรอบกลองเพื่อบูชาปีศาจ เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นคำสาปของWendigoที่กำลังโกรธเคือง ความเกรงกลัวต่อตำนาน Wendigo จึงกลายเป็นความเชื่อที่ฝั่งรากหยั่งลึกจนเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตของชนเผาอินเดียนแดงโดยสมบูรณ์

     นอกจากนี้ ในปี 1662 Relations des Jésuites de la Nouvelle-France หรือพงศาวดาร (chronicles) ของคณะมิชชันนารีจากประเทศฝรั่งเศส ยังได้บันทึกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งอธิบายถึงคนที่ตัดสินใจกินเนื้อมนุษย์หลังจากตกอยู่ในสถานการณ์ขาดอาหารและไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกินเนื้อมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับปีศาจ Wendigo ด้วย

     “คนจนจำนวนหนึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคที่คณะมิชชันนารีไม่รู้จัก พวกเขามีอาการวิกลจริต คลุ้มคลั่ง จนทำให้เขาหิวกระหายมาก และอยากกินเนื้อมนุษย์ เขาจับจ้องไปที่ผู้หญิง เด็ก แม้กระทั่งผู้ชาย ราวกับเป็นสายตาของมนุษย์หมาป่าที่ตะกละตะกลาม วิธีเดียวที่จะรักษาโรคนี้ได้คือ ความตาย” (อ่านข้อความภาษาอังกฤษแปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสได้ที่ The Jesuit Relations and Allied Documents Travels and Explorations of The Jesuit Missionaries in New France ย่อหน้าแรก หน้า 261)

อาการป่วยทางจิตจากตำนานความเชื่อและวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น

     เมื่อเวลาผ่านมาสู่ศตวรรษที่ 19 แม้คนพื้นเมืองจะยังคงเชื่อในตำนานของปีศาจ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สำหรับคนนอกพื้นที่ที่มองเข้ามายังชาวอินเดียนแดงกลับมีมุมมองที่แตกต่าง โดยมุ่งหาคำอธิบายและความเป็นไปได้อื่นๆ ซึ่งเป็นความจริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์มากขึ้น นอกเหนือจากความเชื่อเรื่องผีสาง และเหตุการณ์ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญซึ่งได้เปลี่ยนมุมมองต่อปีศาจเวนดิโก คือคำกล่าวอ้างของ Swift Runner

     ในช่วงฤดูหนาว Swift Runner นายพรายผู้เป็นที่เคารพของชาวอินเดียนแดงเผ่าครี ในรัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา จะพาครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วยภรรยา และลูกๆ อีก 6 คน ย้ายขึ้นไปตั้งแคมป์และใช้ชีวิตร่วมกันในป่าลึกบนที่ราบสูง เพื่อล่าสัตว์และเก็บของป่าไว้สำหรับขายในฤดูกาลถัดไป เป็นธรรมเนียบปฏิบัติของครอบครัวที่ทำประจำทุกปี จนกระทั่งถึงฤดูหนาวในปี 1878 ทุกคนออกเดินทางขึ้นเขาเหมือนที่เคยทำ เวลาผ่านไปหลายเดือนจนความหนาวเย็นสิ้นสุดลง กลายเป็นว่ามีเพียง Swift Runner คนเดียวเท่านั้นที่เดินทางกลับมายังบ้าน เขาถูกสอบสวนจนยอมรับว่าเป็นคนลงมือฆ่าและกินเนื้อของทุกคนในครอบครัวเพราะทนหิวไม่ไหว เจ้าหน้าจึงเดินทางไปยังที่ตั้งแคมป์เพื่อหาร่องรอยและหลักฐานประกอบ ทำให้พบกับชิ้นส่วนกระดูกและเศษซากศพของสมาชิกในครอบครัวตามที่เขายอมรับ ในตอนแรกถึงแม้จะสารภาพโดยดี แต่เขากลับอ้างว่าความผิดร้ายแรงที่ทำลงไป ไม่ได้เกิดจากเจตนาหรือความตั้งใจของตัวเอง แต่เป็นเพราะเขาถูกปีศาจ Wendigo เข้าสิง ในท้ายที่สุดเขาถูกตัดสินให้สิ้นชีวิตลงด้วยการแขวนคอในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1879 และถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นมนุษย์กินคน (Cannibalism) แต่เป็น Wendigo Psychosis หรืออาการหลงผิดจนทำให้ความคิดผิดเพี้ยนเพราะถูกความเชื่อทางวัฒนธรรมครอบงำอีกทีหนึ่ง

กองกระดูกภรรยาและลูกๆ ของ Swift Runner (1879) จาก Glenbown Museum Archives

     ต่อมาในช่วงปี 1920 J.E. Saindon นักบวชนิกายคาทอลิก ศึกษาอาการป่วยที่แปลกประหลาดของผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศแคนาดา ซึ่งมักจะมองเห็นภาพหลอนว่ามีวิญญาณร้ายต้องการฆ่าและสิงเธอ เขาจึงวินิจฉัยว่าเธอป่วยเป็น Psychoneurosis ซึ่งมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวลจนต้องแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อเกี่ยวกับปีศาจโบราณ ถือเป็นครั้งแรกที่ชื่อ Wendigo ถูกใช้เป็นคำศัพท์เฉพาะในทางการแพทย์ตะวันตกเพื่อระบุถึงความเจ็บปวยทางกาย (sickness) โดย J.E. Saindon นำกรณีศึกษานี้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารด้านมานุษยวิทยา Primitive Man ปี 1933 ประกอบบทความเรื่อง Mental Disorders among the James Bay Cree

     จากนั้นในแวดวงจิตเวชต่างกล่าว และมีการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการนี้อยู่เรื่อยๆ แต่ตำราวินิจฉัยโรคมาตรฐานอย่าง International Classiffiication of Diseases and Related Health Problem, 10th Revision (ICD-10) โดยองค์การอนามัยโลก และ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 4th Edition (DSM-IV) โดยสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน กลับเพิ่งจะให้การรับรองในปี 1993 และ 1994 ตามลำดับเท่านั้น โดยระบุว่าเป็นเพียงอาการหนึ่งในกลุ่มอาการเจ็บป่วยทางจิตเวชที่เกิดจากวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น หมายความว่ามีอิทธิพลความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุทางร่างกายที่พกพร่องไป

     ดังนั้น กลุ่มอาการเจ็บป่วยเหล่านี้จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์เหมือนโรคอื่นๆ เพราะเป็นอาการป่วยที่มักจะพบในหมู่คนที่อาศัยและเติบโตมาในบริบทสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น ทำให้มีชื่อเรียกอาการตามภาษาท้องถิ่นอย่างอาการดังกล่าวนับเป็นความผิดปกติที่เกิดจากอาการซึมเศร้า (Depressive Reaction) จนหลงผิดและเกิดเป็นภาพหลอนคิดว่าตนเองถูกวิญญาณของปีศาจเวนดิโก เข้าสิง ทำให้มีความต้องการอยากกินเนื้อมนุษย์

     สำหรับการรักษา ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความคิดความเชื่อของคน ยิ่งปักใจเชื่อมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้หลุดพ้นจากความคิดเดิมๆ ยากขึ้นเท่านั้น รวมถึงประเด็นทางวัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องศึกษาประกอบการรักษา ซึ่งอาจกลายเป็นความยากลำบากทั้งต่อตัวผู้ให้การรักษาและผู้ป่วย เพราะแต่ละฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน ความร่วมมือจึงเป็นหลักสำคัญที่ทำให้หาแนวทางเฉพาะเพื่อออกแบบวิธีการบำบัดรักษาที่ได้ผล ซึ่งจะช่วยทำให้อาการเจ็บป่วยบรรเทาลง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีสิ่งใดการันตีว่าผู้ป่วยจะหายขาด เพราะเมื่อไหร่ที่หัวใจอ่อนแอ อารมณ์แปรผันง่ายไม่มั่นคง ก็มีโอกาสกลับมาป่วยเหมือนเดิม

สรุป

     ปัจจุบันอาการ Wendigo Psychosis มีแนวโน้มพบน้อยลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็นไปของโลกที่คอยสร้างความคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ๆ ให้กับคนพื้นเมือง จากที่เคยถูกปลูกฝังให้เกรงกลัวต่อปีศาจเวนดิโก เชื่อในจิตวิญญาณและพลังเหนือธรรมชาติ เปลี่ยนมาเป็นสนใจวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องราวของปีศาจ Wendigo อีกต่อไป ในอนาคตอันใกล้ เวนดิโก อาจกลายเป็นเรื่องแหกตาโดยสมบูรณ์ แม้ว่าครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วจะมีคนจำนวนมากเคยตกอยู่ภายใต้อำนาจของความรู้สึกหวาดกลัว จนทำให้บางคนที่ผ่ายแพ้ต่อศรัทธาความเป็นมนุษย์ กล้าทำสิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดแล้วกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะปีศาจก็ตาม 

แหล่งที่มา

https://adaybulletin.com

https://mydeedees.com/wendigo-psychosis-%e0%b8%ad%e0%b8%a2%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%99%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%99%e0%b8%b8%e0%b8%a9%e0%b8%a2%e0%b9%8c/



วิทยาลัยเทคโนโลยีโซ่พิสัย
237 หมุู่ 8 ต.คำแก้ว อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ 38170 โทรศัพท์ 042-086002 โทรสาร 042-086002