แบบนี้แค่กังวล หรือเป็น โรคย้ำคิดย้ำทำ
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ obsessive-compulsive disorder(OCD) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ และมีการตอบสนองต่อความคิด ด้วยการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อลดความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น ซึ่งตัวผู้ป่วยเองก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่ก็ไม่สามารถหยุดความคิดและการกระทำดังกล่าวได้ และหมดเวลาไปกับอาการดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากอาการดังกล่าว
อาการ
อาการย้ำคิด (obsession) เป็นความคิด ความรู้สึก แรงขับดันจากภายใน หรือจินตนาการ ที่มักผุดขึ้นมาซ้ำ ๆ โดยผู้ป่วยเองก็ทราบว่า เป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เช่น มีความคิดซ้ำๆว่ามือตนเองสกปรก, คิดว่าลืมปิดแก๊สหรือลืมล็อคประตู, จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ หรือการกระทำสิ่งไม่ดีอย่างซ้ำๆ, คิดซ้ำๆ ว่าตนลบหลู่หรือด่าว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความคิดดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลใจ ความไม่สบายใจอย่างมาก และรู้สึกรำคาญต่อความคิดนี้
อาการย้ำทำ (compulsion) เป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ผู้ป่วยทำขึ้น โดยเป็นการตอบสนองต่อความย้ำคิด หรือตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่ตนกำหนดไว้ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจที่เกิดจากความย้ำคิด หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆตามที่ตนหวั่นเกรง เช่น ต้องล้างมือซ้ำๆ, ตรวจสอบลูกบิดประตูหรือหัวแก๊สซ้ำๆ , พูดขอโทษซ้ำๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่มากเกินปกติ และไม่สมเหตุสมผล
โรคย้ำคิดย้ำทำ พบได้ร้อยละ 2-3 ในประชากรทั่วไป โดยเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยที่อายุ 20 ปี โดยพบได้พอๆกันทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ ยังพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่นๆได้ เช่น พบโรคซึมเศร้าร่วมด้วยถึงร้อยละ 60-90 โรคอื่นๆที่พบร่วมกับโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้แก่ โรคกลัวสังคม, โรควิตกกังวลทั่วไป, โรควิตกกังวลแพนิค รวมทั้งการดื่มเหล้าจนก่อให้เกิดปัญหาได้
สาเหตุ
ปัจจัยทางชีวภาพ
ในด้านการทำงานของสมอง พบว่าผู้ป่วยมีการทำงานของสมองเพิ่มขึ้นในสมองส่วน orbitofrontal cortex, cingulate cortex, caudate และ thalamus ทั้งนี้บริเวณเหล่านี้อาจรวมกันเป็นวงจรที่มีการทำงานมากเกินปกติในผู้ป่วย OCD
ในด้านระบบประสาทสื่อนำประสาท เชื่อว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบซีโรโตนิน (serotonin) โดยพบว่า ยาแก้ซึมเศร้าที่ออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโตนิน มีประสิทธิภาพในการรักษา OCD
ในด้านพันธุกรรม พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค โดยพบว่าอัตราการเกิดโรคในแฝดไข่ใบเดียวกัน(monozygotic twins) เท่ากับ ร้อยละ 60-90 ในขณะที่ในประชากรทั่วไป พบร้อยละ 2-3
ปัจจัยด้านพฤติกรรมการเรียนรู้
ทฤษฎีการเรียนรู้ เชื่อว่าการเกิดภาวะเงื่อนไข มีบทบาทสำคัญในการเกิดอาการ ย้ำคิด โดย สถานการณ์ปกติ ถูกเชื่อมโยงกับ สถานการณ์อันตราย จึงทำให้เกิดความวิตกกังวล สำหรับอาการย้ำทำนั้น ผู้ป่วยเรียนรู้ว่า การกระทำบางอย่าง ช่วยลดความกังวลลงได้ จึงเกิดเป็นแบบแผนพฤติกรรมดังกล่าว
การรักษา
การรักษาด้วยยา
-
ยาแก้ซึมเศร้า ยาที่รักษาได้ผลดีใน OCD เป็นยาที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อ ระบบซีโรโตนิน เช่น clomipramine และยาในกลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRI) ทุกตัว ได้แก่ fluoxetine, fluvoxamine, paroxetine, sertraline และ escitalopram โดยทั่วไปมักใช้ในขนาดที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า อาการข้างเคียงที่อาจพบได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
-
ยาคลายกังวล ในผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลอยู่สูงอาจใช้ยาในกลุ่ม benzodiazepine ในระยะสั้นๆ ยาในกลุ่มนี้ไม่มีผลในการรักษาอาการย้ำคิด หรืออาการย้ำทำ
-
ยาต้านโรคจิต ในผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยยาแก้เศร้าแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านโรคจิต เช่น risperidone ควบคู่ไปกับยาแก้ซึมเศร้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
การรักษาวิธีอื่น
-
การรักษาที่ได้ผลดีคือ พฤติกรรมบำบัด โดยการให้ผู้ป่วยเผชิญ กับสิ่งที่ทำให้กังวลใจและป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมย้ำทำ ที่เคยกระทำ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มักล้างมือ ก็ให้จับของที่ผู้ป่วยรู้สึกว่าสกปรก ให้รออยู่ช่วงหนึ่งจึงอนุญาตให้ล้างมือ การฝึกจะทำตามลำดับขั้น เริ่มจากสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลน้อยไปหามาก และระยะเวลาที่ไม่ให้ล้างมืออาจเริ่มจาก 10-15 นาที ไปจนเป็นชั่วโมง หากการรักษาได้ผลผู้ป่วยจะกังวลน้อยลงเรื่อยๆ จนสามารถจับสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ต้องรีบไปล้างมือดังก่อน
-
นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย มีความสำคัญอย่างยิ่ง แพทย์ควรแนะนำสมาชิกในครอบครัว ถึงอาการของโรค แนวทางการรักษาและการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งแนะนำให้มีท่าทีเป็นกลางต่ออาการของผู้ป่วย โดย ไม่ร่วมมือและช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยมีอาการ ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ต่อว่าผู้ป่วย เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยเครียด และยิ่งกระตุ้นให้อาการเป็นมากขึ้นได้
-
การรักษาวิธีอื่นๆ ได้แก่ การทำจิตบำบัดรายบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวกับอาการได้ กลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
-
ในรายที่อาการรุนแรง อาจมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การฝังแท่งกำเนิดไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นสมองส่วนลึก ( deep brain stimulation ) หรือ การผ่าตัด ( cingulotomy )
โรคย้ำคิดย้ำทำสามารถป้องกันได้ไหม อย่างไร
สำหรับความรู้และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำได้ แต่ถ้าหากเคยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำแล้ว การรักษาโดยเฉพาะการฝึกฝนทำ ERP อย่างสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยให้มีความมั่นใจในการรับมือโรคย้ำคิดย้ำทำได้ดีขึ้น
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
แนะนำให้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับโรคที่เป็น อย่าปฏิเสธในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คล้ายกับเป็นโรคทางกาย ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ถ้ารู้ตัวว่าเป็นโรค ก็ไปหาคุณหมอ รับการรักษาด้วยยาเบาหวาน และพยายามควบคุมอาหารด้วยการไม่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ในทางกลับกัน หากไม่ยอมรับว่าเป็นโรคเบาหวาน ก็จะกินอาหารเหมือนเดิม ไม่ระวังของหวาน ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดจากน้ำตาลสูง หรือเกิดทุพพลภาพ อัมพาตจากเส้นเลือดสมองอุดตัน
โรคย้ำคิดย้ำทำก็เช่นกัน ถ้าป่วย ก็ไปรักษาด้วยวิธีกินยาและจิตบำบัดกับจิตแพทย์ ความทุกข์ทรมานโรคจะลดลง คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น แต่หากไม่ยอมรับการเจ็บป่วย ปล่อยให้อาการกำเริบ ก็ส่งผลเสียต่อตัวเองและความสัมพันธ์ที่มีต่อคนรอบข้าง ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
การอยู่ร่วมกัน ควรทำอย่างไร เมื่อคนใกล้ตัวเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ
วิธีการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยพื้นฐานไม่ได้แตกต่างจากผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ คือ การรับฟังความทุกข์ทรมานจากผู้ป่วยอย่างตั้งใจ การให้กำลังใจผู้ป่วยในการต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้น และการดูแลผู้ป่วยเรื่องการรักษาให้กินยาที่ได้รับจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง แต่ความแตกต่างระหว่างการดูแลผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำกับผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ คือ เวลาที่ผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำแสดงอาการย้ำทำออกมา เช่น การถามว่าตนเองได้ทำอะไรไม่ดีไปหรือไม่ คนที่อยู่ข้างๆ สามารถตอบเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยไม่ได้ทำเพียง 1 ครั้ง แต่หากผู้ป่วยยังคงถามซ้ำๆ ให้หลีกเลี่ยงการยืนยันผู้ป่วยซ้ำๆ เพราะขัดต่อหลักการรักษาที่ให้ผู้ป่วยอยู่กับความวิตกกังวล แต่อาจคอยอยู่ข้างๆ และช่วยให้ผู้ป่วยฝึกอยู่กับลมหายใจ (Breathing Exercise) เพื่อผ่อนคลายจากความวิตกกังวล เป็นการหลีกเลี่ยงการย้ำทำแทนตามหลักการรักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ
สรุป
โรคย้ำคิดย้ำทำมักสร้างความทุกข์ทรมานอย่างมากแก่ผู้ป่วยอยู่แล้ว เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักรับรู้อาการของตนเองอยู่แล้วว่าเป็นความผิดปกติและไม่สมเหตุสมผลในอาการย้ำคิดย้ำทำที่เกิดขึ้น เมื่อผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานใจอย่างมาก หรือมีปัญหาในการใช้ชีวิต แนะนำให้มาปรึกษาจิตแพทย์ได้เลย เพราะโรคมีทางรักษาให้อาการดีขึ้นได้
แหล่งที่มา
https://www.manarom.com/
https://www.rama.mahidol.ac.th/
https://mydeedees.com/%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%a2%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b8%a2%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b8%97%e0%b8%b3-%e0%b8%84%e0%b8%b4%e0%b8%94-%e0%b8%97%e0%b8%b3%e0%b8%8b%e0%b9%89%e0%b8%b3/
|