โรค กลัวรู (Trypophobia) เห็นรูไม่ได้ รู้สึกขยะแขยง
หลายคนคงจะเคยเห็นภาพรูเล็กๆ ที่เรียงต่อกันหลายๆ รู ผ่านสายตากันมาบ้าง หลังจากเห็นภาพรูมากมายเหล่านั้นแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร? รู้สึกขนลุกซู่ ขยะแขยง หรือรังเกียจหรือไม่? ถ้าหากคุณมีปฏิกิริยากับภาพรูเล็กๆ เหล่านั้น ไม่แน่ว่า คุณอาจจะกำลังเป็น โรค กลัวรู อยู่ก็เป็นได้ มาทำความรู้จักกับโรคกลัวรูให้มากขึ้นกับบทความนี้
โรค กลัวรู (Trypophobia) คือความรู้สึกกลัวและกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นภาพหรือวัตถุต่าง ๆ ที่มีรูจำนวนมากรวมอยู่ด้วยกันมีอาการคือ ความรู้สึกอึดอัด ขยะแขยง กลัว เกลียด ไม่สบายใจ เมื่อพบเห็นพื้นผิวของวัตถุที่มีลักษณะเป็นรู หลุม ช่องกลมๆ เช่น รังผึ้ง ฝักเมล็ดบัว ปะการัง ฟองน้ำ ฟองสบู่ ผิวหนังของสัตว์ เป็นต้น เป็นที่น่าสงสัยว่า อาการกลัวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโรคจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงความวิตกกังวลที่ทำให้คิดไปเอง ที่สำคัญ หากเป็นแล้วเราควรรับมืออย่างไร
สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychological Association) หรือ APA ยังไม่มีการรับรองโรคกลัวรู หรือ Trypophobia ว่าเป็นความผิดปกติตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุดของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders, 5th edition) หรือ DSM-5 ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญจึงจัดว่าโรคกลัวรู เป็นเพียงความรู้สึกรังเกียจ ซึ่งเป็นความรังเกียจที่มากกว่าความกลัวโดยทั่วไป
โรค กลัวรู
โรคกลัวรู คืออะไร ?
โรคกลัวรู คือ ภาวะกลัวอย่างรุนแรงชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัว หลอน ขยะแขยง ขนลุก มีเหงื่อออก ตัวสั่น อึดอัด คลื่นไส้ หรือสะอิดสะเอียนเมื่อเห็นผิวของวัตถุที่เต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ และมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ เช่น ฝักเมล็ดบัว รังผึ้ง เมล็ดทับทิม สตรอเบอร์รี่ หรือปะการัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยพบว่าความจริงแล้วผู้ป่วยไม่ได้รู้สึกกลัวรูอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่จะรู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่อเห็นรูปภาพของรูกลวงมากมายรวมอยู่ด้วยกัน หรือรูปภาพอวัยวะของสัตว์มีพิษซึ่งมีลักษณะคล้ายรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นนั้น อาจสัมพันธ์กับประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในวัยเด็กมาก่อน
โรคกลัวรูเกิดจากอะไร ?
แม้ในปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคกลัวรูยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ปัจจัยต่อไปนี้อาจส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเป็นโรคกลัวรู้ได้
-
เคยเผชิญหน้าหรือมีประสบการณ์ในอดีตที่ไม่ดีเกี่ยวกับวัตถุที่มีรู
-
มีความผิดปกติทางสมอง หรือการทำงานของสมองเปลี่ยนไป
-
ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลทั่วไป
-
พันธุกรรมและสภาพแวดล้อมในครอบครัว โรคกลัวรูอาจสัมพันธ์กับโรคกลัวหรือโรควิตกกังวลของพ่อแม่ หรืออาจเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้
โรคกลัวรูเป็นโรคกลัวชนิดหนึ่งหรือไม่ ?
สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) ไม่จัดว่าอาการกลัวรูเป็นโรคกลัว (Phobia) เพราะผู้ป่วยโรคกลัวอาจรู้สึกกลัวสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย เช่น กลัวความสูง เครื่องบิน เลือด เข็ม แมลง สุนัข หรือตัวตลก เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการกลัวอย่างรุนแรง รู้สึกพะอืดพะอม วิตกกังวลทันทีที่เห็นหรือนึกถึงสิ่งที่กลัว และมีอาการกลัวเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้วัตถุนั้น บางรายอาจควบคุมความรู้สึกกลัวไม่ได้ จนไม่สามารถทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่ผู้ที่เป็นโรคกลัวรูนั้นจะรู้สึกรังเกียจหรือขยะแขยงเมื่อเห็นภาพรูที่ถูกตกแต่งให้มีระดับความต่างของแสงสูง นอกจากนี้ จิตใต้สำนึกของผู้ป่วยอาจเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีลักษณะเป็นรู ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลัวได้แม้สิ่งนั้นจะไม่อันตราย ซึ่งจากการวิจัยบางส่วนพบว่า ผู้ที่กลัวรูไม่ได้รู้สึกกลัวสัตว์มีพิษ แต่จะกลัวรูปร่างของสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายรู เช่น หมึกสายวงน้ำเงินที่มีจุดวงกลมคล้ายแหวนสีน้ำเงินขึ้นตามลำตัว เป็นต้น
สาเหตุของโรคกลัวรู
ความรู้สึกกลัวรูนั้น มาจากการที่ได้รับแรงกระตุ้น ซึ่งโดยส่วนมากมักจะเป็นแรงกระตุ้นจากการที่ได้เห็นภาพรูเล็ก ๆ เช่น
-
ภาพฟองน้ำ
-
ภาพฟองสบู่
-
ภาพปะการัง
-
ภาพฟองน้ำทะเล
-
ภาพรวงผึ้ง
-
ภาพกระบวนการควบแน่นของน้ำ
-
ภาพฝักเมล็ดบัว
-
ภาพสตรอว์เบอร์รี่
-
ภาพเม็ดของผลทับทิม
-
ภาพฟองเล็กๆ ติดกัน
-
ภาพกลุ่มดวงตาของแมลง
อาการของโรคกลัวรู
หลังจากเห็นภาพดังที่กล่าวไปข้างต้น ผู้ที่เห็นภาพจะมีอาการดังต่อไปนี้
-
มีความรู้สึกรังเกียจ หรือรู้สึกกลัว
-
รู้สึกไม่สบายตัว
-
รู้สึกเหมือนมีอะไรคลานยุบยับอยู่ในผิว
-
ขนลุก
-
มีอาการคันผิวหนัง
-
เหงื่อออกมาก
-
ตื่นตระหนก
รับมืออย่างไรหากมีอาการของโรค กลัวรู ?
การรับมือกับโรคกลัวรูมีหลายวิธี ในเบื้องต้นควรดูแลตนเอง เพื่อคลายความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากโรคกลัวรูโดยปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้
-
ทำกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความเครียด เช่น หายใจเข้าออกลึก ๆ ฝึกสติหรือทำสมาธิ และเล่นโยคะ
-
ออกกำลังกายที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล
-
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีน
-
นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
-
ค่อย ๆ ฝึกเข้าใกล้สิ่งของหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกกลัวให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจให้รางวัลตนเองหากอาการดีขึ้นจ เพื่อเป็นกำลังใจในการรักษาต่อไป
-
เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือตนเอง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ป่วยรายอื่น ๆ ซึ่งอาจช่วยส่งเสริมให้เข้าใจสถานการณ์และอาการของโรคได้ดีขึ้น จนเกิดการบำบัดรักษาที่มีประสิทธิผลที่ดี
-
หากดูแลตนเองแล้วอาการกลัวยังไม่ดีขึ้น รู้สึกวิตกกังวล หรือมีข้อสงสัย ควรไปปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาพจิต เพื่อรับการบำบัดหรือหาแนวทางในการรักษาและควบคุมจัดการความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นต่อไป
เมื่อกังวลว่าลูกน้อยเป็นโรคกลัวรู
ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกน้อบรับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้น หากบุตรหลานมีอาการของโรคกลัวรู พ่อแม่ผู้ปกครองอาจลองปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
-
พูดคุยและรับฟังความคิด ความรู้สึกกลัว หรือความวิตกกังวลต่าง ๆ ของเด็ก โดยพยายามสื่อสารให้เด็กเข้าใจว่า ความรู้สึกกลัวนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน
-
จำลองสถานการณ์และแสดงวิธีรับมือเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่เด็กกลัว เพื่อให้เด็กเรียนรู้และควบคุมความกลัวได้
-
ฝึกให้เด็กเข้าใกล้สิ่งที่กลัวทีละน้อย เพื่อเรียนรู้วิธีจัดการกับความกลัว แล้วค่อย ๆ ขยับเข้าใกล้สิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด จนเด็กไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป
-
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
ปัจจุบันโรคกลัวรู หรือ Trypophobia ยังไม่ถูกจัดไว้ในความผิดปกติใดๆ และยังคงถูกมองว่าเป็นเพียงความเกลียด กลัว ที่เหมือนกับเวลาที่เรากลัวเชื้อโรค เกลียดสัตว์เลื้อยคลาน หรือกลัวแมลงต่างๆ เท่านั้น หากคุณรู้สึกว่าคุณมีลักษณะอาการที่มีความผิดปกติที่รุนแรงมากกว่าที่ได้กล่าวไป ควรที่จะหาเวลาไปปรึกษากับแพทย์หรือจิตแพทย์
หากคุณมีอาการ หรือมีปฏิกิริยากับภาพที่รูในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว ควรหลีกเลี่ยงการพบเห็นภาพเหล่านั้นให้มากที่สุด และควรแจ้งให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทราบว่าสิ่งใดที่คุณไม่ปรารถนาจะพบเห็น หรือถ้าหากพบเจอภาพดังกล่าวบนหน้าฟีดของสื่อโซเชียลมีเดีย ควรกดลบ หรือกดรายงานปัญหาไปยังผู้พัฒนาแอปพลิเคชันนั้น
สรุป
การรับมือกับลูกน้อยที่มีอาการกลัวรูอาจต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์ หากเด็กมีอาการกลัวที่รุนแรงมากและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อหาแนวทางในการบำบัดรักษาที่เหมาะสมต่อไป
แหล่งที่มา
https://www.pobpad.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%b9/
|