ลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ ทำไมจึงห้ามสตาร์ทเครื่องซ้ำ?
ลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ ในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่เช่นนี้ การขับรถลุยน้ำจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมาได้ แล้วถ้าเกิดขับรถลุยน้ำลึกจนกระทั่ง “รถดับ” ขึ้นมาจริงๆ จะต้องทำอย่างไร? Sanook Auto จะพาไปแนะนำวิธีแก้ไขกัน
ทำไมขับ ลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ?
สาเหตุที่ขับรถลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับ เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลักๆ ได้แก่
-
มีน้ำเล็ดลอดเข้าไปยังห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ – ส่งผลให้ระบบจุดระเบิดได้รับความเสียหาย เนื่องจากห้องเผาไหม้ (ลูกสูบ) ของเครื่องยนต์ทั้งเบนซินและดีเซลล้วนแต่มีกำลังอัดอากาศสูงมาก เมื่อเจอกับน้ำที่เล็ดลอดเข้าไปทางท่อไอดี จึงส่งผลทำให้เครื่องยนต์เกิดอาการน็อกในทันที ยิ่งถ้าหากมีการเร่งเครื่องยนต์ให้มีรอบสูงด้วยแล้วล่ะก็ อาจถึงขั้นทำให้ก้านสูบคดเลยทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือเครื่องยนต์พังไปเลย จำเป็นต้องยกรถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเผื่อแก้ไขด้วยการผ่าเครื่องยนต์เท่านั้น
-
กล่องควบคุมเครื่องยนต์ (ECU) ได้รับความเสียหาย – กล่องอีซียูมีหน้าที่ในการควบคุมสั่งการทำงานของเครื่องยนต์ ทั้งการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง, การจุดระเบิด และอีกมากมาย หากว่ากล่องอีซียูจมน้ำ ก็จะได้รับความเสียหายจากการลัดวงจร ทำให้เครื่องยนต์ดับได้เช่นกัน และอาจยังส่งผลให้ระบบไฟฟ้าภายในรถได้รับความเสียหายอีกด้วย
หากว่าเครื่องยนต์ดับขณะลุยน้ำ ต้องทำอย่างไร?
หากว่าโชคร้ายขับรถลุยน้ำแล้วเครื่องยนต์ดับขึ้นมาจริงๆ การพยายามสตาร์ทเครื่องยนต์มักไม่ได้ผล และอาจก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติมได้ ทางที่ดีควรเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น จากนั้นออกจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การเข็นรถไปยังพื้นที่สูง จากนั้นจึงโทรเรียกรถสไลด์หรือรถลากเพื่อนำรถเข้าอู่ต่อไป
น้ำท่วมเครื่องยนต์ดับ เคลมประกันชั้น 1 ได้หรือไม่?
การเคลมค่าสินไหมทดแทนกรณีรถน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย สามารถแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
-
น้ำท่วมจากภัยพิบัติธรรมชาติ – กรณีจอดรถไว้ตามปกติ แต่แล้วจู่ๆ เกิดน้ำหลากไม่สามารถย้ายรถหนีได้ทัน กรณีสามารถเคลมประกันภัยชั้น 1 ได้ตามปกติ แต่หากรถเกิดความเสียหายสิ้นเชิงไม่คุ้มที่จะซ่อม ก็จะถูกตีเป็น Total Loss และจ่ายเป็นเงินชดเชย 70-80% ตามเงื่อนไขของบริษัทประกันแต่ละแห่ง
-
ขับรถลุยน้ำท่วม – หากขับรถลุยน้ำท่วมบนเส้นทางที่ภาครัฐมีการประกาศแจ้งเตือนว่ามีความเสี่ยงภัยน้ำท่วม แต่ยังคงขับผ่านเส้นทางนั้นจนทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวรถ กรณีนี้บริษัทประกันอาจปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้
-
รถติดขัดขณะฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังโดยไม่ทราบล่วงหน้า – หากเป็นการขับรถใช้งานตามปกติแล้วเกิดรถติดพร้อมกับมีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วม ส่งผลทำให้ตัวรถได้รับความเสียหาย กรณีเช่นนี้สามารถเคลมกับบริษัทประกันได้ตามปกติ
หลังขับลุยน้ำ
1.ทำให้เบรกทำงานได้ปกติ หลังจากเพิ่งขับรถลุยน้ำมา ควรเหยียบเบรกย้ำสัก 2-3 ครั้งก่อนที่จะขับต่อไป เพื่อช่วยให้ผ้าเบรก กับ จานเบรก หรือ ดรัมเบรกอยู่ในสภาพปกติ เมื่อมีการสัมผัสกันตอนเบรก ทำให้จานเบรกแห้งและให้ประสิทธิภาพการเบรกดีที่สุดเพื่อความปลอดภัย
2. สังเกตเครื่องยนต์ เจ้าของรถควรสังเกต เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ หากพบว่าเครื่องยนต์มีอาการกระตุก หรือ มีอาการอื่นที่ไม่ปกติเกิดขึ้นในขณะขับ ทางที่ดีควรจอดรถแล้วตรวจสอบ อย่าฝืนขับต่อ
โดยสิ่งแรกที่ควรดูคือก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง หากพบว่ามีสีขุ่นผิดปกติ แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ สิ่งต่อมาที่ควรดูคือ กรองอากาศ เพราะหากน้ำเข้าทางนี้ กรองอากาศและท่อไอดีจะเปียก สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก็คือหากมีน้ำเข้าเครื่องยนต์ควรให้ช่างตรวจสอบ และ ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันความเสียหายหนักขึ้น
หากเครื่องยนต์ดับขณะขับลุยน้ำท่วม ไม่ควรสตาร์ทซ้ำ เพราะอาจทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์เพิ่ม จนนำไปสู่การทำให้ฝาสูบโก่งได้ นั่นจะยิ่งทำให้คุณต้องจ่ายค่าซ่อมมากกว่าเดิม หรือ ซ้ำร้ายต้องยกเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่
3. ตรวจสอบระบบ Electronic และ ไฟฟ้าของรถ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีน้ำเข้าสู่ระบบ Electronic และ สายไฟต่างๆ ควรตรวจสอบที่ภายในกล่องฟิวส์ดูว่ามีความเสียหายหรือไม่ หากมีความเสียหายที่ฟิวส์ใด ก็ควรเปลี่ยนดู โดยอ้างอิงจากที่ฝากล่องฟิวส์รถยนต์ รวมไปถึงดูกล่อง ECU และ เช็ดให้สะอาดหากเปียกน้ำ
นอกจากนี้ควรตรวจสอบไฟต่างๆ ภายนอกรถด้วย โดยหากรู้สึกว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ ควรถอดขั้วต่อแบตเตอรี่ออกเพื่อรอให้ช่างตรวจสอบ และ ประเมินก่อน
4. ดูภายในห้องโดยสาร บางครั้งน้ำที่ท่วมอาจเข้ามาที่พื้นรถได้ผ่านตามส่วนที่เป็นซีล และ รอยต่อต่างๆ ดังนั้นจึงควรนำพรมปูพื้นออก หากรู้สึกว่าด้านใต้พรมมีน้ำแฉะ และ ไม่ควรทิ้งให้น้ำขังอยู่ภายในรถ ควรดูดหรือเช็ดน้ำออกแล้วเช็ดให้แห้งทันทีเมื่อทำได้ หรือ รีบนำรถไปเข้ารับบริการที่ร้านคาร์แคร์ เพื่อทำการซักพรมพื้นรถ
สรุป
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีน้ำท่วมจนทำให้เครื่องยนต์ดับ มักเป็นความเสียหายที่รุนแรง มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ทางที่ดีควรประเมินความสูงของระดับน้ำก่อนลุยน้ำทุกครั้ง หากพบว่าระดับน้ำสูงเกินครึ่งล้อขึ้นไป ก็ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นเสีย หรือยอมเสียเวลาจอดรถเพื่อรอระดับน้ำลดลง ดีกว่าต้องมาปวดหัวกับค่าซ่อมราคาแพงระยับ แถมอาจไม่กลับมาดีเหมือนเดิม 100% อีกด้วย
อ้างอิง
https://www.sanook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b3%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c%e0%b8%94/
|