โบราณสถานกลางทุ่งนา ขนาดใหญ่ ขอนแก่น พบ คาดอายุ 900 ปี
โบราณสถานกลางทุ่งนา เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 8 กรกฎาคม น.ส.ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น พร้อมนักโบราณคดี ยังคงร่วมกันลงพื้นที่สำรวจโบราณสถานโนนพระแท่น บ้านหนองโก ม.3 ต.ก้านเหลือง อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น หลังจากที่มีชาวบ้าน
ทำหนังสือขอให้ตรวจสอบ หินทรายและศิลาแลงกลางทุ่งนาบ้านหนองโก
การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่นักโบราณคดีในครั้งนี้ มีนายช่วง วงษ์หาแก้ว อายุ 83 ปี เจ้าของที่นา และ นายศรัญญู ภูเวียงแก้ว อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน
และชาวบ้าน พาเจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจสอบจุดศูนย์รวมของหินทรายและศิลาแลง ซึ่งอยู่กลางทุ่งนาทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน
นายช่วง กล่าวถึง โบราณสถานกลางทุ่งนา ว่า
เกิดมาและจำความได้ก็เห็นหินเหล่านี้วางอยู่บริเวณเนินดินกลางทุ่งนาแล้ว จนกระทั่งบิดาเสียชีวิต ซึ่งตลอดช่วงที่บิดามีชีวิตนั้น
บิดากับชาวบ้าน ก็นำหินที่พบในทุ่งนานำขึ้นมาเรียงกันไว้ ชาวบ้านก็นำดอกไม้ ธูปเทียนมากราบไหว้ และบนบาน ขอในสิ่งที่ปรารถนา ซึ่งสมหวังทุกคน
จนกลายเป็นประเพณีประจำหมู่บ้าน โดยในทุกวันพุธแรกของเดือนเมษายน ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญ บวงสรวง และสักการบูชา เพราะเป็นสถานที่ที่พบหินทรายและศิลาแลงจุดนี้ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนหมู่บ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
“ลูกเคยมาบนและกราบไหว้ด้วยการนำพวงมาลัยมาถวายคู่ ขอให้การงานรุ่งเรือง ก็เจริญรุ่งเรืองจนทุกวันนี้ และในช่วงสงกรานต์ทุกปี
ก็จะมีการร่วมทำบุญเบิกบ้าน จุดบั้งไฟก่อนเริ่มลงมือทำนา กลายเป็นประเพณีของหมู่บ้านจนถึงปัจจุวัน และการที่มีเจ้าหน้าที่นักโบราณคดี
มาตรวจสอบก็เป็นการดี จะได้รู้ว่า หินที่พบในทุ่งนามาตั้งแต่ 100 กว่าปีนั้น ถ้าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์จริง จะได้ร่วมกันดูแลรักษาให้ลูกหลานได้ชมและได้รับความรู้” นายช่วง กล่าว
ด้านนายศรัญญู ภูเวียงแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า เห็นสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่เกิด เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ชาวบ้านจะถือเอาวันพุธแรกเป็นวันบวงสรวง และมีการจุดบั้งไฟ ซึ่งสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ยุคบิดามารดามาจนปัจจุบัน อีกทั้งในช่วงที่ตนยังไม่รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ก็เกิดปาฏิหาริย์ เพราะชาวบ้าน ช่วยกันย้ายนำหินไปไว้ข้างโรงเรียน เพื่อที่จะให้ชาวบ้านได้สักการะในที่สาธารณะ ปรากฏว่าเมื่อย้ายหิน เจ้าของที่นาจุดที่พบหินก็ไม่สบายอย่างหนัก ทุกคนจึงคิดว่าน่าจะเกิดจากการย้ายหิน ออกจากจุดที่ตั้ง จึงย้ายกลับมา คนป่วยก็หายเป็นปกติ ยิ่งสร้างความเลื่อมใสศรัทธา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่มาจนปัจจุบัน
“ในสมัยพ่อแม่ ไม่มีใครแจ้งเจ้าหน้าที่ แต่ในยุคปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ลูกหลานของคนในหมู่บ้านได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น มาตรวจสอบ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบและยืนยันว่า หินจากโบราณสถาน ชาวบ้านก็จะยิ่งเชื่อและศรัทธามากขึ้น
และคงไม่มีการเคลื่อนนำไปไว้ที่อื่นเด็ดขาด ชาวบ้านเองจะร่วมกันดูแลรักษา ไม่ให้สูญหาย ทั้งความสะอาดและสถานที่เป็นอย่างดี และเชื่อว่า
ไม่มีใครกล้าเอาหินไปอย่างแน่นอน” นายศรัญญู กล่าว
ขณะที่ น.ส.ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กล่าวว่า เบื้องต้นจากการตรวจเช็กและวัดหินทรายที่มีทั้งหมด 16 ชิ้น แต่ละชิ้นยาวประมาณ 1.5-2 เมตร และตรวจวัดศิลาแลงที่มีอยู่ประมาณ 30 ชิ้น โดยได้แนะนำชาวบ้านและผู้นำชุมชนว่า
ห้ามให้นำธูปเทียน ปักลงบนหินและศิลาแลงเด็ดขาด เพราะจะกระทบความสมบูรณ์ของหิน ให้ผู้นำแนะนำชาวบ้านท่ากราบไหว้และทำบุญว่า
ให้วางสิ่งของหรือปักธูปเทียนในจุดอื่น รวมทั้งห้ามนั่งหรือเหยียบหินด้วยเช่นกัน
“จุดที่พบหินทรายและศิลาแลงจุดนี้
เป็นโบราณสถานที่เรียกว่าอาคารภายใต้อิทธิพล ทางวัฒนธรรมเขมร จากลักษณะของรูปแบบ ภาพสลักที่พบเป็นภาพสลักหินทราย สันนิษฐานว่า ถ้าสมบูรณ์ จะเป็นภาพของการกวนเกษียรสมุทร จะแบ่งเป็น 2 ฝั่งคือฝั่งยักษ์กับฝั่งเทพ ที่จะจับตัวพญานาค ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยโบราณกาล เทพกับอสูรมักจะสู้รบกันเสมอๆ ต่างก็ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ จนเหล่าเทพตายลงเป็นจำนวนมาก พวกเทพจึงมาขอให้พระนารายณ์ช่วย ท่านจึงให้ทำการกวนเกษียรสมุทรเพื่อจะได้มีน้ำอมฤตมาให้พวกเทพได้ดื่มและจะได้มีชีวิตเป็นอมตะ แต่การกวนเกษียรสมุทรซึ่งเป็นงานใหญ่ ต้องให้พวกอสูรร่วมมือด้วย จึงมีการเจรจาพักรบกัน”
น.ส.ทิพย์วรรณ กล่าวต่ออีกว่า จากลักษณะของภาพสลักที่ปรากฏ กำหนดอายุเบื้องต้นอยู่ใน พุทธศตวรรษ ที่ 17-18 ซึ่งอยู่ในช่วง ศิลปะนครวัดถึงบายน ในตอนแรกสันนิษฐานว่าเป็นทับหลัง แต่ด้วยขนาดความยาวที่ต่อเนื่องกัน จึงขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แต่ในเบื้องต้นยืนยันได้ว่าเป็นส่วนประกอบของสถาปัตยกรรม จากที่พบจะมีภาพของคนที่จับวัตถุคล้ายๆ ทรงกระบอก ที่ทรงกระบอกนี้คือตัวพญานาค จะเห็นได้ว่ามีการจับทั้งฝั่งด้านซ้ายและฝั่งด้านขวา ซึ่งจะแบ่งเป็นฝั่งยักษ์และฝั่งเทพ จากที่เราเห็นทางด้านหน้าถ้าเป็นภาพที่สมบูรณ์ เราจะเห็นไปจนถึงส่วนหาง และอีกทางฝั่งนึงจะเห็น เศียรนาค แต่ว่ายังไม่พบชิ้นส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งโดยทั่วไป ที่เราเห็นอยู่ตรงนี้จะเป็นฝั่งเทพ และอีกทางฝั่งที่อยู่ทางด้านนั้นจะเป็นฝั่งยักษ์
สรุป
“ถ้าดูจากทางด้านทิศเหนือ ของโบราณสถานแห่งนี้ น่าจะเป็นชุมชนโบราณที่เก่าแก่ได้ถึงก่อนประวัติศาสตร์ เพราะว่าในบริเวณใกล้เคียงเราได้สำรวจพบชุมชนโบราณในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ด้วย ในหลายๆ แห่งที่อยู่ในเขต อ.แวงน้อย,แวงใหญ่ และ อ.ชนบท จากข้อมูล ในพื้นที่ในหมู่บ้าน เคยมีการขุดพบเศษภาชนะดินเผา ตรงบริเวณโรงเรียนซึ่งเป็นจุดที่สูงที่สุดของเนิน และจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า ตัวของโบราณสถานล้อมรอบเนินหมู่บ้านในปัจจุบันน่าจะเคยมี ร่องรอย ในลักษณะของคูน้ำ ที่ล้อมรอบ ตัวเป็นคนโบราณอยู่ ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพเป็นสระน้ำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานที่มีมานานก่อนที่จะมีการสร้างโบราณสถานแห่งนี้ แสดงให้เห็นถึงการมีชุมชนโบราณอาศัยอย่างต่อเนื่อง ก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว ซึ่งสถานที่ตรงนี้ก็เป็นโบราณสถาน ถ้าเทียบกับปัจจุบันคือวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์”
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/
https://have-a-look.net/2023/07/09/%e0%b9%82%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%93%e0%b8%aa%e0%b8%96%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%99%e0%b8%b2/
|