ทึ่ง! นักวิจัยจุฬาฯพบสารเคมีในกลิ่น เหงื่อ นักผจญเพลิง
นักวิจัยจุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่น เหงื่อ นักวิจัยจุฬาฯ เผย “เครียดจัด-ซึมเศร้า” นำร่องคัดกรองสุขภาพจิตนักผจญเพลิงสำเร็จครั้งแรก
ทีมนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อบ่งบอกภาวะความเครียดสูงและซึมเศร้าได้ นำร่องศึกษานักผจญเพลิงในกรุงเทพฯ ผลทดสอบแม่นยำถึง 90% พร้อมเดินหน้าตรวจคัดกรองสุขภาพจิตในกลุ่มอาชีพเครียดจัดและเสี่ยงสูงอื่นๆ หวังลดปัญหาสุขภาพจิตและความรุนแรงในสังคม
กลิ่น เหงื่อ บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด
ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยจากทั้งภายในจุฬาฯ และภาคเอกชน ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมีในเหงื่อ จนถึงขั้นลงพื้นที่ไปตรวจคัดกรองให้ชุมชน ตลาด และโรงเรียนบางแห่งในกรุงเทพมหานครได้
มาในครั้งนี้ อาจารย์ชฎิล ต่อยอดงานวิจัยและร่วมมือกับ แพทย์หญิงภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาหา “สารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ” โดยนำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คนจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร นับเป็นครั้งแรกที่พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อที่สามารถบ่งชี้สภาวะความเครียดของกลุ่มประชากรในกรุงเทพได้!
ความสำคัญของการพบสารเคมีความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ
ที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวผู้ก่อเหตุความรุนแรง “คลั่งกราดยิงผู้คน” โดยไม่มีเหตุความขัดแย้งรุนแรงมาก่อน หลายรายเป็นบุคคลที่มีอาชีพที่ต้องดูแลความปลอดภัยให้กับคนในสังคม ในรายงานข่าวยังเผยด้วยว่า มูลเหตุของการก่อเหตุความรุนแรงมาจากภาวะความเครียดจากการทำงานและปัญหาสุขภาพจิตที่สะสมมายาวนาน
เรื่องนี้ดูจะสอดคล้องกับสถิติล่าสุดจากกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่าคนไทยราว 1.5 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิตและแนวโน้มดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 49.36% หรือครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีภาวะเครียดและซึมเศร้า อันเกิดมาจากการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีอาชีพเสี่ยงสูง ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของสาธารณะ หรือต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันและความเร่งด่วน เช่น ตำรวจ ทหาร นักผจญเพลิง ฯลฯ
“ปกติผู้ที่มีอาชีพที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของสาธารณะจะได้รับการตรวจสุขภาพกายและจิตประจำปีอยู่แล้ว แต่การตรวจสุขภาพจิตปีละครั้งนั้นไม่น่าจะเพียงพอเพราะบางรายอาจมีอาการเครียดหรือซึมเศร้าระหว่างปี และการที่ทุกคนจะเข้าถึงและพบจิตแพทย์ก็ยากเนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรด้านจิตเวชในประเทศไทย นอกจากนี้ แนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยด้วยการสัมภาษณ์ยังขึ้นกับดุลยพินิจของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ทำให้ผลการวินิจฉัยอาจแตกต่างกันและไม่อาจสรุปได้อย่างแม่นยำ” แพทย์หญิงภัทราวลัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข้อจำกัดในการดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มผู้มีอาชีพเสี่ยงสูง
“เราจึงพยายามหาวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อใช้ในการคัดกรองสภาวะทางจิตก่อนพบจิตแพทย์ ซึ่งเราพบว่าวิธีการตรวจหาสารเคมีจากกลิ่นเหงื่อเป็นวิธีที่น่าสนใจศึกษา เพราะเป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว และสามารถวัดผลจากสิ่งที่จับต้องได้จริงๆ มีความคลาดเคลื่อนน้อย”
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการความร่วมมือระหว่างภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ และภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ในการวิจัยหาสารเคมีความเครียดจากกลิ่นเหงื่อในกลุ่มอาชีพนักผจญเพลิงทั่วกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากแพทยสภาและได้รับการสนับสนุนเครื่องมือจากบริษัทซายน์ สเปค จำกัด โดยมี ดร.ณัฐนี ตั้งกิจอนันต์สิน เป็นผู้ทำการทดลองวิเคราะห์สารเคมีในเหงื่อ
กลิ่นเหงื่อ เผย ภาวะเครียด-ซึมเศร้า
ผศ.ดร.ชฎิล กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบกลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน และเป็นความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานและในชีวิตประจำวันจริงๆ ไม่ได้เป็นความเครียดที่เกิดจากการควบคุมหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นเหมือนการศึกษาอื่นๆ ที่ผ่านมา
“โดยหลักการ ผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักจะมีสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่เหมือนกันกันอยู่ คล้ายกันกับกรณีนี้ หากตรวจพบว่าใครที่มีสารเคมีกลุ่มนี้ในปริมาณที่เกินเกณฑ์หรือต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งหมดก็น่าจะสามารถระบุได้ว่าคน ๆ นั้นมีความเครียดสูงหรืออาจเป็นซึมเศร้าได้ โดยความแม่นยำในการระบุผลจากกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 90%”
วิธีการตรวจคัดกรองภาวะเครียดจัดและซึมเศร้าจากเหงื่อเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว สามารถตรวจได้ครั้งละหลายๆ คน และใช้เวลาไม่นาน
ผศ.ดร.ชฎิล อธิบายขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อว่า “เราใช้ก้านสำลีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บใต้รักแร้ซ้าย-ขวา ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วนำก้านสำลีที่มีเหงื่อไปใส่ในขวดปลอดเชื้อที่มีฝาปิด จากนั้น ส่งตัวอย่างมาห้องแล็บเพื่อตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี โดยฉีดอากาศในขวดเข้าไปในเครื่อง แล้วรอเครื่องวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที ซึ่งผลจะแสดงออกมาในลักษณะบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่าง”
ตรวจจับความเครียดก่อนเกิดปัญหา เข้ากระบวนการบำบัดทันท่วงที
โครงการศึกษาวิจัยกลุ่มนักผจญเพลิง 1,084 คนในกรุงเทพมหานครระหว่างกุมภาพันธ์ 2565 ถึง ธันวาคม 2565 ผลการตรวจพบแนวโน้มสุขภาพจิต ว่ามีปัญหาความเครียด และการนอนหลับจำนวนมาก
พญ.ภัทราวลัย กล่าวว่ากลุ่มนักผจญเพลิงที่อยู่ในเกณฑ์มีความเสี่ยงปานกลางถึงรุนแรงจะเข้าสู่กระบวนการยืนยันผลโดยอาจารย์จิตแพทย์อีกครั้ง โดยในโครงการวิจัยนี้ได้รับเกียรติจาก Professor Dr. Michael Maes, MD, Ph.D. ดร.นายแพทย์ ชาวิท ตันวีระชัยสกุล จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการเพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันผลการศึกษารอบสุดท้าย
“ผู้เข้าร่วมโครงการจะทราบผลตรวจของตัวเอง ซึ่งในรายที่มีความเครียดสูง ก็สามารถพบจิตแพทย์ของ รพ.จุฬาฯ ได้เลย โดยผลตรวจและข้อมูลการพบแพทย์ทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ ทีมวิจัยจะไม่เปิดเผยข้อมูลหรือแจ้งผู้บังคับบัญชาเพื่อพิทักษ์จิตใจของคนที่ตรวจว่าอาจจะกระทบกับงาน” พญ.ภัทราวลัย กล่าว
นอกจากนี้ ทางทีมวิจัยจะได้สะท้อนผลโดยภาพรวมให้ผู้บริหารของหน่วยงานนั้น ๆ ทราบด้วยว่าพนักงานในหน่วยงานมีความเครียดจัดกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อที่ว่าหน่วยงานจะได้ออกนโยบายหรือหาวิธีดำเนินการเพื่อลดความเครียดของพนักงานด้วย
พร้อมต่อยอดคัดกรองสุขภาพจิตกลุ่มอาชีพเครียดจัด
นักผจญเพลิงที่เข้าร่วมวิจัยในโครงการนี้กล่าวพ้องกันว่าโครงการนี้ดีและเป็นประโยชน์ ทำให้พวกเขาเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตและทราบสภาวะจิตใจของตัวเอง บางคนให้ความเห็นว่าการตรวจสุขภาพจิตแบบที่พวกเขาเคยทำเป็นแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ดูรูปภาพและเขียนตอบตามความเข้าใจ ซึ่งเมื่อพวกเขาทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ก็จำได้ว่าควรต้องตอบอะไร หรือบางทีพวกเขาก็เข้าไปดูเฉลยในอินเทอร์เน็ต
“แบบนี้ ผลทดสอบก็จะคลาดเคลื่อน ไม่สะท้อนความจริง ในขณะที่การวัดด้วยสารเคมีได้ผลเที่ยงตรงและแม่นยำกว่า” พญ.ภัทราวลัย กล่าว
ถึงแม้การตรวจเหงื่อจะมีความคลาดเคลื่อนน้อยกว่า แต่ พญ.ภัทราวลัย ก็ย้ำว่าการตรวจวินิจฉัยสุขภาพจิตโดยบุคคลากรทางการแพทย์ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น
จากความสำเร็จในการวิจัยกับกลุ่มนักผจญเพลิง ทีมวิจัยมีแผนที่จะขยายการตรวจคัดกรองกับกลุ่มพยาบาลทั่วประเทศ เบื้องต้นได้มีการเริ่มเก็บตัวอย่างเหงื่อจากโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยแล้ว โดยงานวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
กล่าวทิ้งท้าย จาก ผศ.ดร.ชฎิล
“ต่อไปเราจะขยายการตรวจคัดกรองความเครียดไปในกลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง มีความเสี่ยงต่อปัญหาภาวะสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตให้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีภาวะเครียดจัดหรืออาจมีอาการซึมเศร้า ได้รับการดูแลบำบัดทันท่วงที” ผศ.ดร.ชฎิล กล่าวทิ้งท้าย
https://workpointtoday.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b1%e0%b8%a2-%e0%b9%80%e0%b8%ab%e0%b8%87%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad-%e0%b8%9e%e0%b8%9a%e0%b8%aa%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a1/
|