ครูติดเกณฑ์ สื่อคสามหมายว่าอะไร
ครูติดเกณฑ์ เราคงเคยได้ยินคำว่า “เด็กติดเกม” มานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เด็กติดเกมเป็นปัญหาคลาสสิค และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคที่เทคโนโลยีครอบครองโลก แต่ใครจะรู้บ้างว่า “วิชาชีพครู” ซึ่งเป็นอาชีพแบบผู้ใหญ่ๆ อย่างเราก็ติดไปกับเขาด้วยเช่นกัน แต่เป็น “ติดเกณฑ์” แทน ทำไมผู้เขียนจึงหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงทัศนะ ก็เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ครูไทยเกือบทั้งประเทศ น่าจะเห็นด้วยไม่มากก็น้อยกับผู้เขียนในประเด็นนี้
เมื่อพูดถึงการทำงานของครู งานครูเป็นงานที่ต้องอาศัยความรัก ความชอบ และความเสียสละอยู่อย่างมากของครูผู้สอน หากครูต้องการส่งผ่านความรู้ ความคิด ทัศนคติ การขัดเกลา และหล่อหลอมสิ่งต่างๆ ที่ดีงามถูกต้อง ไปยังผลลัพธ์ปลายทาง ซึ่งก็คือ “นักเรียน” ให้เจริญงอกงามทั้งความรู้ ความคิด ความดี ได้นั้น ครูควรต้องทำงานด้วยความอิสระปราศจากแรงกดดัน หรือกรอบใดๆ ที่จะลิดรอนความคิดสร้างสรรค์ให้ลดน้อยถอยลงไป
พูดถึง ครูติดเกณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสอนหนังสือนักเรียน
ครูต้องใช้ความคิดอย่างรอบคอบในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัย และระดับชั้นของนักเรียน การเขียนแผนการสอน การจัดเตรียมสื่ออุปกรณ์ต่างๆ รวมถึง การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานของความมีอิสระทางความคิด (Autonomy หรือ แปลว่า อัตตาณัติ หมายถึง การมีอำนาจในการปกครองตนเอง) ความอยากรู้อยากลองจากการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของตน ในการที่จะพิสูจน์ฝีมือ และลองผิดลองถูก ว่าสิ่งที่ตนเองได้คิดนั้น เมื่อได้ปฏิบัติ (สอน) จริงแล้วนั้น เกิดผลอย่างไรบ้างกับนักเรียน
การเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกของครูในทุกครั้งที่สอนนั้น นำไปสู่การพัฒนาความเป็นครูมืออาชีพของตนได้ทีละเล็กทีละน้อยเองอย่างแท้จริง เนื่องจากครูเป็นผู้ที่รู้จักนักเรียน รับรู้ปัญหา และรู้บริบททั้งหมดทั้งใน และนอกห้องเรียนได้ดีที่สุด ดังนั้น เมื่อครูอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน การสอนในเรื่องเดียวกันย่อมมีความแตกต่างกันอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ครูทางภาคเหนือสอนเรื่องการผลิตสินค้าและบริการ ในกลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ครูอาจยกตัวอย่างการผลิตและการบริการที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนทางภาคเหนือ เช่น การปลูกสตรอว์เบอรี่ การทำไร่ชา การทำร่ม การทำเครื่องเงิน เป็นต้น ในขณะที่ครูทางภาคใต้สอนเรื่องเดียวกัน อาจยกตัวอย่างที่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของนักเรียน เช่น การทำประมง การทำสวนยาง การทำผ้าบาติก ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ครูทั้ง 2 พื้นที่นี้ย่อมยกตัวอย่างให้นักเรียนเห็นได้ชัดเกี่ยวกับบทเรียนดังกล่าว
ให้สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของนักเรียน และเป็นสิ่งที่นักเรียนคุ้นเคย ย่อมมีความหมายต่อการเรียนรู้ของพวกเขา จึงสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ และบริบทที่แวดล้อมตัวนักเรียน เป็นปัจจัยสำคัญที่ครูควรตระหนักถึง เช่น ชุมชน สังคม วัฒนธรรม การประกอบอาชีพ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนพยายามจะบอกว่า การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะต่างๆ ของครู บรรดา ว. ต่างๆ เช่น ว.17 ว.21 ว. 9 หรือที่เรียกว่า ว.PA ล้วนแล้วแต่คือ ไม้บรรทัดวัดการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาชีพครูที่สูงขึ้น แต่ไม่ได้วัดการพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่ความเป็นครูมืออาชีพที่สูงขึ้นได้อย่างแท้จริง กระนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ เป็นช่วงที่ครูจำนวนมาก มีการบันทึกวิดีโอการสอนของตนเพื่อขอรับการประเมินพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะของตนเอง โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมินจากการดูวิดีโอการสอนมีเป็นจำนวนมาก
คำถามคือ ความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานของครูคนหนึ่ง ขึ้นอยู่กับความเห็นของบุคคลต่างๆ ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และผู้พิจารณาเหล่านั้น จะสามารถประเมินภายใต้เกณฑ์ตามตัวบ่งชี้ต่างๆ ได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม และเห็นพ้องต้องกันจริงหรือ? มุมมอง และทัศนคติในการประเมินของแต่ละบุคคลย่อมมีความแตกต่างกัน เช่นนั้นจะทำอย่างไรให้การประเมินเพื่อตัดสินนั้นปราศจากอคติอย่างแท้จริง ผู้ประเมินเข้าใจสภาพบริบท ปัจจัย ข้อจำกัดต่างๆ ที่แวดล้อมการทำงานของครูเหล่านั้นได้อย่างแน่แท้แล้วหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามชวนคิด และนำไปสู่วิถีทางของการพัฒนาวิชาชีพครูให้ดีขึ้นกว่าที่เป็น
ตราบใดที่ครูไทยยังถูกผูกติดกับเกณฑ์มากเท่าใด ความเป็นมืออาชีพของบรรดาครูจะถูกผลักไสออกไปให้ไกลมากขึ้นเท่านั้น หากประเทศไทยเราลดเกณฑ์ในการประเมินครูสารพันลงไปบ้าง เชื่อว่าทั้งครู และนักเรียนจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้ไกลกว่านี้อย่างแน่นอน
ว.เดียวที่ครูไทยต้องการคือ ว.52 = ยกเลิก (ความหมายตามรหัสวิทยุสื่อสาร)
สรุป
หากไม่มีเกณฑ์ ครูก็ไม่ต้องเป็นนักแสดงในคลิปวิดีโอ ขอเพียงแค่ความเชื่อใจกันของทุกฝ่าย โดยครูทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด คำนึงถึงนักเรียนให้มาก ครูเองก็ไม่จำเป็นต้องแสดง หรือหากแสดง ก็เกิดจากความเป็นธรรมชาติโดยอัตโนมัติในขณะที่สอนโดยไม่มีใครบังคับ เกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมาใช้ในการตัดสินความก้าวหน้าของครูอีกต่อไป
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/
https://have-a-look.net/2023/07/09/%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%93%e0%b8%91%e0%b9%8c-%e0%b8%9e%e0%b8%b9%e0%b8%94%e0%b8%96%e0%b8%b6%e0%b8%87%e0%b9%81%e0%b8%a5%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%ab/
|