ภาคธุรกิจไหวไหม? “ราคาเหล็กโลก” อาจแพงขึ้นอีกครั้ง จากกระแส Net Zero
เป็นภาพจำขึ้นใจ ของแวดวงอุตสาหกรรมไทย ที่มีความจำเป็นต้องใช้ “เหล็ก และ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก” สำหรับช่วงปี 2564 ที่ครั้งนั้น ราคาเหล็ก ปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างก้าวกระโดด เนื่อง ปริมาณเหล็กในตลาดโลกลดลง จากนโยบายของรัฐบาลจีน ที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จำกัดการส่งออกเหล็กและการลดกำลังการผลิตในประเทศ
ผลกระทบจึงไม่วายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างหนัก เนื่องจาก ไทยอยู่ใน ฐานะที่พึ่งพิง การนำเข้าเหล็กจีน ถึง 35% ของการนำเข้ารวม โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ภาคก่อสร้าง ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
เนื่องจาก ธุรกิจเหล่านี้ พึ่งพิงวัตถุดิบเหล็กมาก แต่ความสามารถในการปรับราคาขายต้องใช้เวลานาน ทำให้อัตรากำไรลดลงจากภาวะต้นทุนเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้น เดือดร้อนเป็นวงกว้าง จนเกิดการเรียกร้อง ให้รัฐบาลเร่ง ผลักดันนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 เพื่อสร้างความยั่งยืน และเสถียรภาพของราคาเหล็กในประเทศระยะยาว
หนำซ้ำช่วงปี 2565 ราคาเหล็ก ยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปัญหาความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน และ ผลพ่วงจากราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง แพงขึ้นเป็นระยะๆ ภายใต้ ความต้องการใช้เหล็กถึง 19.6 ล้านตัน ตามการขยายตัวของภาคก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไทย โดยราคาขายเฉลี่ยช่วง มี.ค. 2565 เหล็กขายอยู่ที่ตันละ 25,500 บาท เพิ่มขึ้น 31% และราคาเศษเหล็ก อยู่ที่ตันละ 17,425 บาท เพิ่มขึ้น 34%
สำหรับปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาเหล็กจะถูกลง จากความต้องการ (อุปสงค์) โลกที่ชะลอตัวลง เพราะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยเฉพาะในจีน ความต้องการใช้หดตัวจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังซบเซา ส่งผลภาพรวมราคาเหล็กปีนี้ อาจหดตัว -10% ถึง -6% (ราคาเหล็กไทยเฉลี่ย 5 เดือนแรกปี 66 ปรับลดลงราว -6%) ส่วนปัจจัยภายในเอง ก็ยังจะมาจากความต้องการในไทยถูกกดดัน จากประเด็นค่าครองชีพสูง กดดันการบริโภคของเอกชน และ ความล่าช้าของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่เหล็กจากจีนบางส่วน อาจระบายสต็อกมาที่ไทยมากขึ้น ทำให้ในระยะสั้นๆ ข้างหน้า อาจเห็นราคาเหล็กไทยย่อตัวลงได้อีก
อย่างไรก็ดี ราคาเหล็กไทย ยังยืนสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด จากต้นทุนการผลิต/การจัดการในประเทศบางด้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากค่าไฟต่อหน่วยของธุรกิจที่คาดว่าจะยังราคาสูงอยู่ และค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มขยับขึ้นอีกตามนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงค่าขนส่งที่ยังยืนสูงตามทิศทางราคา น้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง
Net Zero ตัวแปรใหม่ ราคาเหล็กไทย
ส่วนประเด็นลบ ปัจจัยใหม่ที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า อาจเป็นการ ปรับไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในระดับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เหล็กมากขึ้น อาจส่งผลให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็กไทยบางส่วนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาค ธุรกิจที่มีการส่งออกไปยังบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมที่มีการตั้งเป้าหมายลดการ ปล่อย GHGs อย่างชัดเจน และมีการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตสินค้าขั้นปลาย
เทียบให้เห็นภาพ ขณะนี้ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องการเป็นผู้นำด้าน Net Zero (ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ก็ได้มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซ GHGs ให้ได้ 65% ภายในปี 2573 ส่งผลให้บริษัทผลิตยานยนต์ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหัน ไปใช้เหล็ก Green steel ในการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น
กระทบต่อผู้ผลิตเหล็ก/ผู้ค้าเหล็ก/ ผู้ใช้เหล็กเพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่ต้องส่งออกให้กับบริษัทผลิตยานยนต์เหล่านี้จะต้อง จัดซื้อเหล็กวัตถุดิบ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาจำหน่ายหรือใช้ในการผลิตก่อนที่จะสูญเสียฐาน ลูกค้าไป รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความได้เปรียบที่จะได้ฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
ในระยะสั้น คาดว่าผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยที่ได้รับผลกระทบ อาจนำเข้าเหล็ก วัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจำนวนจำกัด เพื่อนำมาผลิตและส่งออกให้กับตลาดที่มี มาตรการทางการค้า/บริษัทข้ามชาติที่มีความต้องการใช้เท่านั้น ขณะที่ ตลาดในประเทศพบว่าปัจจัยกดดัน จากพฤติกรรมผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงตลาดส่งออกหลักอื่นๆ ของไทยยังเป็นประเทศในอาเซียนที่ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่มีความเข้มงวดน้อยกว่า
อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กโลกคาดว่าจะมีการทยอยปรับตัวให้สอดรับ กับอุปสงค์ในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และความเป็นไปได้ของการบังคับใช้ มาตรการ CBAM ในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงกระแส Net Zero ในประเทศผู้ผลิตเหล็กรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดนำเข้าเหล็กหลักของไทย เช่น ญี่ปุ่น (33%) จีน (24%) และเกาหลีใต้ (10%) เป็นต้น
ราคาเหล็ก จ่อปรับฐานใหม่อีกครั้ง
ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ในระยะถัดไป ราคาเหล็กท่ัวโลกมีแนวโน้มปรับฐานใหม่ตาม ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเหล็กไทยคงหลีกเลี่ยงต้นทุนเหล็ก วัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่อาจปรับเพิ่มขึ้นนี้ได้ยาก จนกว่าการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กโลกในภาพรวมจะสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่จนเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จึงจะทำให้ราคาเหล็กโลกถูก ลงได้บ้าง
“มองไปข้างหน้า ถึงแม้ในปัจจุบันความเร่งด่วนในการปรับตัวของผู้เล่นในอุตสาหกรรมเหล็ก ไทยอาจยังมีไม่มากและจำกัดเฉพาะกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบก่อน แต่ในระยะถัดไปคาดว่าการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ในภาพรวมทั้งในประเทศและต่างประเทศน่าจะครอบคลุมทุกภาคส่วน ทำให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเหล็กไทยคงต้องทยอยปรับตัว เพื่อลดผลกระทบของต้นทุน ส่วนเพิ่มจากราคาเหล็กวัตถุดิบ/สินค้าเหล็กที่อาจปรับฐานสูงขึ้น และการต้องจ่ายภาษีคาร์บอนทั้งใน ประเทศและตลาดคู่ค้า รวมถึงเพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งอาจ ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในระยะยาวได้”
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net