ส่งออกไทยเดือน พ.ค. หดตัว 4.6% จับตา 4 ปัจจัยเสี่ยงฉุดการเติบโต
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนพฤษภาคม และ 5 เดือนแรกของปี 2566 โดยการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 มีมูลค่า 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (830,448 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.6 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 1.4 จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมโลกเร่งตัวขึ้นจากการผ่อนคลายปัญหาห่วงโซ่การผลิต
แต่คำสั่งซื้อใหม่สำหรับการส่งออกไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควบคุมการใช้จ่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยหดตัวน้อยลงกว่าเดือนก่อนหน้า และทำมูลค่าสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังของเดือนพฤษภาคม (21,658.8 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวในรอบ 8 เดือน จากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ) ยานพาหนะและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (เช่น เครื่องปรับอากาศ) ขณะที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ อาเซียน (5) และสหภาพยุโรป กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ทั้งนี้ การส่งออกไทย 5 เดือนแรก หดตัวร้อยละ 5.1 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย หดตัวร้อยละ 2.1
ในด้านมูลค่าการค้ารวม ทั้งนี้มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐเดือนพฤษภาคม 2566 การส่งออก มีมูลค่า 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 26,190.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.4 ดุลการค้า ขาดดุล 1,849.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 116,344.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 5.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 122,709.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.5 ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,365.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนมูลค่าการค้าในรูปเงินบาทเดือนพฤษภาคม 2566
การส่งออก มีมูลค่า 830,448 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 904,563 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.7 ดุลการค้า ขาดดุล 74,115 ล้านบาท ภาพรวม 5 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 3,941,426 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 4,210,326 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.2 ดุลการค้า 5 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 268,901 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ และแนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป การส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกเพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกการส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา อาทิ
(1) การเร่งผลักดันนโยบาย “อาหารไทย อาหารโลก” รองรับความต้องการอาหารของตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร โดยใช้หลัก “รัฐหนุน เอกชนนำ” ลดอุปสรรคในการส่งออกให้มากที่สุด และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและชื่นชอบอาหารไทย ผ่านการจัดงานแสดงสินค้า THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ระหว่างวันที่ 23 – 27 พฤษภาคม 2566 เพื่อเน้นย้ำให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพของไทยในฐานะการเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตอาหารของโลก ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ เจรจาการค้า มีมูลค่าสั่งซื้อ 119,706.60 ล้านบาท ตลอดจนสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้นำเข้าจากประเทศต่างๆ เพิ่มโอกาสในการขยายตลาดส่งออก
(2) ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศ อาทิ
1) ส่งเสริมการขายร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ต Yonghui แห่งมหานครฉงชิ่ง
2) ส่งเสริมการขายร่วมกับห้างสรรพสินค้าและผู้นำเข้าในมณฑลฝูเจี้ยน
3) ส่งเสริมการขายปลีกสินค้าอาหารและผลไม้ไทยผ่านช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในไต้หวัน เป็นต้น
แนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ไทยกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกจาก
(1) ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป
(2) สภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในปีนี้
(3) แรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และภาคการผลิตสินค้า
(4) การเปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายการค้าของคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะนโยบายการพึ่งพาตนเองของจีน ขณะที่ปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย ได้แก่ (1) การดำเนินนโยบายในเชิงรุกและเชิงลึกของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งรักษาตลาดเดิม เจาะตลาดใหม่ เพื่อขยายโอกาสของผู้ประกอบการส่งออกไทย (2) แนวโน้มการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงกดดันต่อภาคการบริโภคและการลงทุน (3) ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจเป็นโอกาสที่ดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net