จ่ายก่อน 3 งวดสิทธิบริหาร “แอร์พอร์ตลิงก์”
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนการแก้ไขสัญญาโครงการที่ภาครัฐได้ทำร่วมกับเอกชนแต่เป็นการเยียวยาปัญหาให้กับภาคเอกชนหรือบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด
ของกลุ่มซีพี ในส่วนการบริหารโครงการรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง จึงให้ผ่อนชำระค่าสิทธิบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากที่ต้องจ่ายภายใน 2 ปีหลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุน 10,671 ล้านบาท ออกเป็น 7 งวด ภายในวันที่ 24 ต.ค.ของแต่ละปี ซึ่งในวันที่ 24 ต.ค.ของปีนี้ เอกชนจะต้องชำระเงินรวม 3 งวด รวม 3,201 ล้านบาท เนื่องจากสัญญาการบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงก์มีผลตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่กำหนดให้เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ 10,671 ล้านบาท จะเพิ่มดอกเบี้ย 1,060 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ต.ค. ของแต่ละปี
ส่วนการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เหลือ ขณะนี้ทุกฝ่ายทราบในหลักการว่าจะต้องแก้ไข
โดยระบุถ้อยคำที่เป็นเหตุสุดวิสัยไว้ด้วย เนื่องจากเป็นสัญญาร่วมทุน 50 ปี อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอน เหตุสุดวิสัยเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนแก้สัญญา เพียงแต่นำมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด กพอ.) ในการเยียวยาเอกชนที่ไม่สามารถให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ได้ในช่วงโควิด มาพิจารณาเท่านั้น
ส่วนเรื่องอนาคตเห็นตรงกันว่าต้องเพิ่มข้อความเรื่องเหตุสุดวิสัยซึ่งขั้นตอนนี้จะต้องทำอย่างเคร่งครัดทั้งการนำร่างสัญญาให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาจากนั้นเข้าคณะกรรมการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) จากนั้นเข้าสู่บอร์ด กพอ. และ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป
ซึ่งขณะนี้คาดว่าโครงการจะล่าช้าไป 1 ปี จากเดิมจะเปิดให้บริการในปี 2570 เป็นปี 2571 เนื่องจากขณะนี้เอกชนยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างเนื่องจากยังไม่ครบเงื่อนไขที่จะเริ่มการก่อสร้าง 100% โดยเอกชนระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสืออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ).
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net