รายงานการศึกษา : นะโมตัสสะคาเฟ่ฝึกอาชีพ-สร้างผู้ประกอบการ
นะโมตัสสะคาเฟ่ฝึกอาชีพ น้ำทองสิกขาลัย วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ตั้งอยู่ที่ ถ.บรมราชชนนี ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม สร้างขึ้นให้เป็นที่พำนักของนักศึกษาของวิทยาลัยศาสนศึกษา มม.ที่เป็นพระภิกษุ สามเณร และนักศึกษาทั่วไป เป็นสถานที่สำหรับใช้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องต่อการเรียนการสอนของวิทยาลัย มีจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อการดำเนินชีวิตที่สร้างสรรค์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ และศาสนา
ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล เล่าถึงแนวคิดของ นะโมตัสสะคาเฟ่ฝึกอาชีพ ว่า
สร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของ คุณน้ำทอง คุณวิศาล และ พญ.อรวรรณ คุณวิศาล ให้เป็นที่พำนักของนักศึกษาของวิทยาลัยศาสนศึกษา มม.ที่เป็นพระภิกษุ สามเณร และนักศึกษาทั่วไป ปัจจุบันวิทยาลัยศาสนศึกษา มม.ได้ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพร้อมแข่งขันในเวทีโลก และเพื่อให้สอดคล้องต่อเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ
โดย “ทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ”
ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การเริ่มต้นสู่ “การสร้างผลกำไรทางธุรกิจ” แต่คือ “หัวใจ” สู่ความสำเร็จในทุกวิชาชีพ ด้วยการฝึก “คิดแบบผู้ประกอบการ” จะทำให้เกิด “แรงบันดาลใจ” ในการทำทุกกิจการด้วยความตระหนักถึงการได้เป็น “ผู้ริเริ่มด้วยตัวเอง” จากการวางแผนด้วยมุมมองที่สร้างสรรค์ และครอบคลุมในทุกองค์ประกอบ
เช่นเดียวกับการทำให้นะโมตัสสะคาเฟ่ เป็นเวทีในการฝึกการบริหารจัดการของนักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา ให้ได้ปฏิบัติจริง เพื่อนำทักษะที่ได้ไป “สร้างงาน-สร้างอาชีพ” ด้วยตัวเอง
ดร.พิบูลย์เสริม นะโมตัสสะคาเฟ่ฝึกอาชีพว่า
ความสำเร็จของงานเกิดขึ้นจากทีมงาน ดร.ไพเราะ มากเจริญ นักศึกษาที่มาช่วยกัน และคณะทำงาน ได้ร่วมกันจุดประกายแนวคิด และผลักดันให้นะโมตัสสะคาเฟ่ เริ่มขึ้นได้จริง ได้สร้างโอกาสให้นักศึกษา และพระภิกษุสามเณร ได้ฝึกทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ ฝึกทำงานร่วมกัน ฝึกวางกลยุทธ์ ฝึกวางแผนประชาสัมพันธ์ ฝึกทักษะการสื่อสาร รวมถึง ฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในแง่การเป็นผู้ประกอบการ ที่สำคัญ ฝึกคิดสร้างโมเดลธุรกิจอย่างไรให้เกิดประโยชน์เชิงสร้างสรรค์ต่อสังคม
นอกจากนี้ นะโมตัสสะคาเฟ่ ยังเป็น “คอมมูนิตี้แนวใหม่” ที่ทำให้การสร้างสรรค์สิ่งดีอยู่ในใจของทุกคน โดยไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในสถานที่เพื่อการประกอบพิธีกรรมของศาสนาหนึ่งศาสนาใด และเป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่เพียงแค่การจำหน่ายเครื่องดื่ม อาหาร หรือเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ แต่คือ “พลังของคนรุ่นใหม่” ที่พร้อมร่วมสร้างสรรค์สังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
นักศึกษาอาจได้ค้นพบว่า กิจกรรม “เพ้นท์กระเป๋า”, “ทำเทียนเจล” “ทำพวงกุญแจ” สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเรียนอย่างทุ่มเท หรือทักษะที่ได้จากการทำกิจกรรม “ระบายสีปูนปั้น” หรือ “ระบายสีด้วยทราย” อาจนำไปถ่ายทอดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้คลายความทุกข์ใจจากอาการเจ็บป่วยได้
สรุป
รวมถึง ได้ฝึกอาชีพ หรือสร้างรายได้เสริมสำหรับนักศึกษาจากคณะอื่นๆ ของ มม.และประชาชนทั่วไปในชุมชน รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และพบกับวิทยากรที่แวะเวียนเข้ามาถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่า ที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ และร่วมเสวนาในประเด็นต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับจิตใจ ในบรรยากาศที่ร่มรื่นด้วยธรรมชาติ
อ้างอิง
https://www.matichon.co.th/
https://have-a-look.net/2023/07/02/%e0%b8%99%e0%b8%b0%e0%b9%82%e0%b8%a1%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%aa%e0%b8%aa%e0%b8%b0%e0%b8%84%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%9f%e0%b9%88%e0%b8%9d%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%9e/
|