เป็นโรคไหนบ้างที่ห้ามกิน กระเทียม ถ้าไม่อยากอาการกำเริบ
โรคที่ห้ามกิน กระเทียม ถ้าไม่อยากซ้ำเติมอาการที่เป็นอยู่ หรือกระตุ้นอาการให้กำเริบ มาเช็กเลย โรคไหนที่ห้ามกินกระเทียม
กระเทียม มีสรรพคุณเลื่องลือมานาน บ้างก็เชื่อว่า กินกระเทียมลดความดัน กินกระเทียมลดไขมันในเลือดได้ หรือคนที่กินกระเทียมสดเพื่อลดความอ้วนก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เหรียญมี 2 ด้านฉันใด กระเทียมก็เป็นสมุนไพรที่มีทั้งสรรพคุณน่าสนใจและโทษที่ควรระวังฉันนั้น งั้นเอาเป็นว่าเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ เรามาเช็กกันดีกว่าว่าโรคที่ห้ามกินกระเทียม หรือไม่ควรกินมากเกินไปมีอะไรบ้าง พร้อมทบทวนอีกทีว่าประโยชน์ของกระเทียมเป็นอย่างไร
สรรพคุณ กระเทียม
สรรพคุณกระเทียมที่เป็นที่เลื่องลือนักหนา จริง ๆ แล้วประโยชน์ของกระเทียมมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันค่ะ
• ขับลม
• แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด แก้อาหารไม่ย่อย
• ขับเหงื่อ
• ขับเสมหะ
• แก้หวัด คัดจมูก
• บำรุงธาตุ กระจายโลหิต
• ขับระดู
• ขับปัสสาวะ
• แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด
• รักษาโรคกลากเกลื้อน
• รักษาแผลและปัญหาผิวหนังต่าง ๆ
• แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
• ลดความดันโลหิต
• ลดไขมันในเลือด
• ต้านอนุมูลอิสระ
• ต้านการอักเสบ
• ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลชีพ
แม้สรรพคุณของกระเทียมจะมีอยู่ด้วยกันหลายด้าน ทว่าสำหรับบางคนก็ต้องเตือนไว้ก่อนว่าไม่ควรกินกระเทียมนะคะ หรือไม่ควรกินในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค หรือมีอาการป่วยบางอย่างอยู่
โรคที่ห้ามกินกระเทียมมากเกินไป ใครบ้างควรเลี่ยง
คนกลุ่มนี้ควรระมัดระวังการกินกระเทียมในปริมาณที่มากเกินไป รวมทั้งสารสกัดกระเทียม เพราะอาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยได้ ดังนี้
• ผู้ที่มีอาการแพ้กระเทียม ทั้งคนที่แพ้กลิ่นและแพ้สารในกระเทียม
• ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ เพราะกระเทียมมีกรดแก๊สในตัวเอง กินมากไปอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือแสบท้องมากขึ้นได้
• ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เพราะกรดแก๊สในกระเทียมอาจทำให้อาการแสบร้อนกลางอกกำเริบขึ้นได้
• คนที่มีอาการตาแดง เพราะกระเทียมมีฤทธิ์ร้อน รสฉุน ซึ่งอาจทำให้มีอาการมากขึ้น
• ผู้ที่เป็นความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่รับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ เนื่องจากกระเทียมมีสรรพคุณช่วยลดความดัน ดังนั้น หากกินกระเทียมมากเกินไปหรือกินร่วมกับยาลดความดัน อาจไปทำให้ความดันต่ำมากกว่าเดิม
• ผู้ที่เตรียมตัวจะผ่าตัด ควรหยุดรับประทานกระเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนผ่าตัด เพราะกระเทียมอาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า เสี่ยงต่อภาวะเลือดหยุดไหลยากหลังผ่าตัด อีกทั้งยังมีผลต่อระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด
• ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน เพราะกระเทียมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดเช่นกัน จึงเสริมฤทธิ์กัน และอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น
• ผู้ที่ใช้ยา NSAIDs บางชนิด เช่น แอสไพริน ซึ่งมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
• ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ไม่ควรกินยาร่วมกับสารสกัดจากกระเทียม เนื่องจากจะยิ่งไปลดระดับน้ำตาลให้ต่ำลง
• หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ไม่ควรกินสารสกัดจากกระเทียมที่มีปริมาณสารสำคัญของกระเทียมสูง ๆ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์กับเด็กได้ แต่สามารถกินกระเทียมในรูปแบบอาหารตามปกติได้นะคะ
9 ประโยชน์เพื่อสุขภาพของกระเทียม ที่คุณอาจคาดไม่ถึง !
จะเห็นได้ว่าสมุนไพรและเครื่องเทศกลิ่นแรงอย่างกระเทียมเป็นส่วนประกอบหลักในเมนูอาหารหลายจานทั้งไทยและเทศ นั่นก็เพราะว่ากระเทียมมีประโยชน์ทั้งในเรื่องของการชูรส และมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพเราด้วย แต่กลิ่นแรง ๆ ของเจ้ากระเทียมก็อาจจะทำให้ใครหลายคนส่ายหัวปฏิเสธ ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมมีประโยชน์ของกระเทียมมาบอกให้ได้รู้กัน เผื่อคราวหน้าคราวหลังจะได้ยอมกินกระเทียมกันอย่างเต็มใจค่ะ
1. แก้ปัญหาผมหลุดร่วง
ปัญหาผมหลุดร่วงคงเป็นปัญหากวนใจใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสาวผมยาว และผมที่ผ่านการทำเคมีต่าง ๆ เช่น การดัด ย้อม หรือยืด แต่ทราบไหมคะว่า กระเทียมช่วยยับยั้งปัญหาเหล่านี้ได้ชะงัด เพียงแค่ฝานกระเทียมเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมานวดศีรษะ หรือจะผสมลงในออยล์แล้วนำมานวดศีรษะก็ได้เช่นกัน เพราะในกระเทียมมีอัลซิลิน (allicin) และซัลเฟอร์ (sulfur) สูง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาผมหลุดร่วงนั่นเอง
2. รักษาสิว
กระเทียมถือเป็นยารักษาสิวจากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เพราะมีแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อยู่หมัด เราจึงสามารถนำมาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้ โดยฝานกระเทียมสดบาง ๆ แล้วนำมาประคบลงบนสิวเบา ๆ ทิ้งไว้สักพัก แล้วล้างออกด้วยนำสะอาด เท่านี้สิวกวนใจก็จะอันตรธานหายไปอย่างแน่นอน
3. ป้องกันและรักษาโรคหวัด
ถ้าเรามีสารแอนติออกซิแดนท์พอเพียงในระบบภูมิคุ้มกัน เราก็จะป่วยได้ยาก ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากเราจะเพิ่มสารแอนติออกซิแดนท์ให้ร่างกายมีกำลังไปต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ด้วยการรับประทานกระเทียมเป็นประจำ แต่หากตอนนี้การป้องกันดูท่าจะไม่ทัน เพราะโรคหวัดเข้ามาคุกคามเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถไล่หวัดได้ง่าย ๆ ด้วยการหั่นกระเทียมเป็นแว่น แช่ในน้ำร้อนประมาณ 2-3 นาที แล้วกรองเอากากออก จิบเป็นชากระเทียมอุ่น ๆ ก็ดี หรือถ้าทนกลิ่นไม่ไหว จะเติมน้ำผึ้งหรือน้ำขิงเข้าไปสักหน่อยก็ได้จ้า
4. บรรเทาอาการอักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน
เมื่อกระเทียมมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ดังนั้นจึงช่วยบรรเทาอาการอักเสบจากผื่นแดงได้ดี โดยเฉพาะผื่นแดงที่เกิดจากโรคสะเก็ดเงิน ให้ทาน้ำมันกระเทียมบริเวณที่เป็นแผล เพื่อให้สะเก็ดหลุดไป และลดผื่นแดงบนผิวหนังก็ได้ค่ะ
5. ช่วยควบคุมน้ำหนัก
ผลการศึกษาจาก Nutritionist Cynthia Sass ที่ทำการศึกษากับหนูที่กินกระเทียมพบว่า หนูที่กินกระเทียมมีน้ำหนักและการสะสมของไขมันลดลง ฉะนั้นก็พยายามกินกระเทียมที่ผสมอยู่ในอาหารกันเยอะ ๆ หรือสำหรับคนที่ทนกลิ่นไม่ได้จริง ๆ ก็เลือกกินอาหารเสริมอย่างเช่น กระเทียมอัดเม็ดก็ได้ค่ะ
6. ถอนเสี้ยน
เสี้ยนที่ตำเท้าหรือมือเราให้เจ็บแปลบ สามารถกำจัดได้ง่าย ๆ ด้วยการแปะกระเทียมฝานบาง ๆ แล้วพันทับด้วยผ้าพันแผล วิธีนี้เป็นวิธีธรรมชาติที่ใช้กันมายาวนาน และได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลจริงด้วยค่ะ
7. กำจัดกลิ่นเท้า
ปัญหากลิ่นเท้าเกิดจากการที่เท้าเจอความอับชื้น ทำให้เกิดเชื้อรา ตามมาด้วยกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และอาการคัน แต่เราสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ ด้วยการแช่เท้าลงในน้ำอุ่นผสมกระเทียมบด ทิ้งไว้สักพัก กลิ่นไม่พึงประสงค์และอาการคันก็จะหายไป เพราะในกระเทียมมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรานั่นเองจ้า
8. ไล่ยุงและแมลงสัตว์กัดต่อย
แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ฟันธงว่ากระเทียมจะสามารถไล่ยุงและแมลงได้ แต่ก็มีผลการวิจัยจากประเทศอินเดียที่พบว่า คนที่ทากระเทียมลงบนแขนขา จะโดนยุงและแมลงสัตว์กัดต่อยทุกชนิดรบกวนน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ทา เขาเลยแนะนำให้ทำยากันยุงง่าย ๆ ด้วยการผสมน้ำมันกระเทียม ปิโตรเลียมเจล และขี้ผึ้งเข้าด้วยกัน หรือจะทากระเทียมสด ๆ ลงบนแขนขาเพื่อป้องกันยุงก็แล้วแต่สะดวกเลยค่ะ
9. รักษาโรคส่าไข้
โรคส่าไข้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Human Herpesvirus Type 6(HHV 6) ซึ่งอาการของโรคจะคล้ายคลึงกับโรคหัด หรืออีสุกอีใส เพราะจะเกิดตุ่มแดง และแผลอักเสบบนร่างกาย ซึ่งวิธีรักษาด้วยธรรมชาติที่เห็นผลก็คือ นำกระเทียมบดมาประคบลงบนแผลโดยตรง เพื่อรักษาอาการอักเสบและลดอาการบวม ร่วมกับการรับประทานอาหารเสริมจากสารสกัดกระเทียม เช่น กระเทียมอัดเม็ด หรือน้ำมันกระเทียมก็จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
สรุป
แม้จะไม่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงสุขภาพใด ๆ ก็อยากแนะนำให้กินกระเทียมอย่างพอเหมาะ อย่างการกินกระเทียมที่อยู่ในเมนูอาหารประจำวัน เป็นต้น แต่ไม่ควรกินกระเทียมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนะคะ ส่วนใครที่อยากได้สารสกัดจากกระเทียมในโดสสูง ๆ เพื่อบำรุงสุขภาพ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรดูก่อนว่าสามารถรับประทานกระเทียมในรูปแบบสารสกัดได้ไหม และกินอย่างไรถึงจะเหมาะสม
แหล่งที่มา
https://health.kapook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%81%e0%b8%b4%e0%b8%99-%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a1-%e0%b9%82%e0%b8%a3%e0%b8%84/
|