อาการ นอนไม่หลับ หลับยาก หลับๆ ตื่นๆ จนพักผ่อนไม่เพียงพอ กลายเป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคใหม่ ซึ่งสาเหตุอาจมาจากโรคเรื้อรังบางโรค เช่น โรคภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง และปัญหาทางด้านจิตใต ความเครียดความกังวลต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อการใช้ชีวิต คุณจะรู้สึกอ่อนเพลียในระหว่างวัน และเป็นสาเหตุให้มีปัญหาในการทำงานได้ ซึ่งพบถึง 1/3 ของประชากรที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนไม่หลับ และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 ต่อ 1 และพบบ่อยขึ้นตามอายุ
ทำความรู้จักโรค นอนไม่หลับ (Insomnia)
โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ โรคที่มีความผิดปกติในวงจรการหลับ โดยสามารถแบ่งเป็นชนิดของการนอนไม่หลับ 3 ชนิดใหญ่คือ
ชนิดที่1 หลับยาก : จะมีอาการหลับได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลาเป็นชั่วโมง
ชนิดที่ 2 หลับไม่ทน : มักตื่นกลางดึก เช่น หัวค่ำอาจพอหลับได้ แต่ไม่นานก็จะตื่น ในบางคนอาจตื่นแล้วกลับหลับอีกไม่ได้
ชนิดที่ 3 หลับๆตื่นๆ : จะมีอาการลักษณะ รู้สึกคล้ายไม่ได้หลับเลยทั้งคืน เพียงแต่เคลิ้ม ๆ ไปเป็นพัก ๆ เท่านั้น
ซึ่งผู้เป็นโรคนอนไม่หลับอาจจะมีอาการเพียงข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีหลายข้อรวมกันก็ได้ และแน่นอนเมื่อมีอาการนอนไม่หลับในช่วงตอนกลางคืนนั้นก็จะส่งผลกระทบในตอนกลางวันทำให้รู้สึกอ่อนแรง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ง่วงซึม เป็นต้น
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
• ปัญหาจากสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ สว่างเกินไป เสียงรบกวนจากการจราจร โทรทัศน์ พื้นที่นอนแคบเกินไปหรือกว้างเกินไป หรือการนอนต่างที่ ทำให้หลับยาก
• ปัญหาจากร่างกาย เช่น อาการเจ็บป่วย ปวดท้อง ปวดตามเนื้อตัว เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับ มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ มีอาการไอ
• ปัญหาจากจิตใจ เช่น ความเครียด อาการวิตกกังวล แรงกดดัน หรือมีอาการซึมเศร้าและท้อแท้ หมดกำลังใจ หมดหวังในการใช้ชีวิต คิดว่าตัวเองไร้ค่า ยึดติดและอยู่กับตัวเองมากเกินไป การทำงานที่ไม่ได้ตามหวัง
• นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะนอนไม่หลับได้ เช่นการดื่มแอลกอ ฮอล์ คาเฟอีนในกาแฟ บุหรี่ หรือการใช้ยาบางชนิดนั้นอาจส่งผลเกี่ยวกับการนอนหลับ ท้องว่าง ทำให้เกิดอาการอึดอัด หิวขึ้นมาในช่วงดึก หรืออิ่มมากเกินไป จนทำให้มีอาการแน่นท้องกลางดึก จนนอนไม่หลับ รวมไปถึงหน้าที่การงานบางประเภท เช่น งานที่ต้องเปลี่ยนเวลาการนอนอยู่สม่ำเสมอ เช่น พยาบาล ยาม เป็นต้น
หากเราจะนอนไม่หลับจริงๆ ต่อให้นับแกะไปกี่ร้อยตัวก็อาจจะไม่ช่วย อ่านหนังสือก็แล้ว ดูซีรี่ส์ก็แล้ว ก็ยิ่งนอนไม่หลับเข้าไปกันใหญ่ คุณอาจจะลืมไปว่าสาเหตุที่ทำให้คุณนอนไม่หลับมีอะไรบ้าง เครียดสะสม? เพิ่งนอนไปเมื่อตอนหัวค่ำ? หรืออาจจะเพราะอาหารที่ทานไปเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครื่องดื่มก่อนนอน ที่ส่งผลต่อระบบการนอนของคุณมากกว่าที่คุณคิด
รักษาโรคนอนไม่หลับ
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุอาการ นอนไม่หลับ ของแต่ละบุคคล ซึ่งต้องแยกให้ได้เสียก่อนว่ามาจากสาเหตุใด หากเกิดจากอุปนิสัยการนอน แพทย์จะให้คำแนะนำอุปนิสัยการนอนที่ถูกต้อง แต่ถ้าเกิดจากโรคทางจิตใจหรือระบบประสาท เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โรคประสาทตื่นตัวผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วย
มีเครื่องดื่มบางชนิดที่ดื่มแล้วจะช่วยให้หลับสบาย หลับง่ายขึ้น แต่ก็มีเครื่องดื่มอีกหลายชนิดที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน
เครื่องดื่มที่ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
นม
นมมีทริปโตเฟน เป็นกรดอะมิโนที่ช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนเมลาโทนิน ช่วยให้เราผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด นอนหลับสบายมากยิ่งขึ้น ดังนั้นหากตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่เคยส่งเข้านอนด้วยนมอุ่นๆ 1 แก้ว ถือว่าเป็นเรื่องดีสุดๆ เลยล่ะ สามารถเลือกดื่มได้ทั้งนมวัว และนมถั่วเหลือง ตามใจชอบเลย
Tips : เลือกเป็นนมอุ่น จะรู้สึกผ่อนคลายหลับสบายกว่านมเย็น ควรเลือกนมจืด เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำตาลให้กับร่างกายโดยไม่จำเป็นก่อนนอน และควรแปรงฟันหลังดื่มนมด้วย
ชาคาโมมายล์
แม้จะเห็นว่าเป็นชา แต่ก็เป็นชาที่ออกฤทธิ์คล้ายยาระงับประสาท และช่วยผ่อนคลายจิตใจให้รู้สึกสบาย และนอนหลับง่ายขึ้นได้ เป็นผลมาจากสารต้านอนุมูลอิสระ flavonoid apigenin ที่อยู่ในชานั่นเอง
สมูทตี้จากผักผลไม้แมกนีเซียมสูง
เพราะแมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากได้ทานสมูทตี้ หรือเครื่องดื่มที่รวมผักผลไม้ที่มีแมกนีเซียมปั่นรวมกัน ทานในช่วงก่อนนอน นอกจากจะช่วยให้นอนหลับสบายแล้ว ตื่นเช้ามารับรองว่าระบบขับถ่ายก็ต้องดีตามไปด้วยแน่นอน
Tips : อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ผักปวยเล้ง เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ควินัว กล้วย และถั่วต่างๆ
เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่มก่อนเข้านอน
เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ชา กาแฟ น้ำอัดลม ช็อกโกแลต โกโก้ เครื่องดื่มเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของคาเฟอีนที่ช่วยให้ตื่นตัว ดังนั้นเราก็ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ก่อนนอน ถ้าจะให้ดีคือ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกชนิดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนนอนจะดีที่สุด
เครื่องดื่มน้ำตาลสูง
นอกจากร่างกายจะไม่ต้องการเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอะไรมากมายก่อนนอนแล้ว เครื่องดื่มน้ำตาลสูงยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง รบกวนการผ่อนคลายของร่างกายระหว่างนอนได้ เครื่องดื่มน้ำตาลสูงนอกจากจะมีน้ำอัดลมแล้ว ยังรวมไปถึงน้ำผลไม้ต่างๆ อีกด้วย
การป้องกันอาการ นอนไม่หลับ
1. ตื่นนอนให้เป็นเวลาปรับพฤติกรรมการนอนที่ไม่เป็นเวลา ไม่งีบหลับระหว่างวัน ไม่กดดันตัวเองให้นอนหลับ เพราะอาจส่งพลให้ตัวเองเกิดความวิตกกังวล
2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวหลังมื้อเที่ยง เช่น กาแฟ หรือชา และสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้หลับยาก
3. สร้างสถานการณ์ให้เตียงนอน คือ การหลับเท่านั้น ดังนั้นการนอนเล่นดูทีวีทำงานพักผ่อนอื่นๆ ให้ทำนอกเตียง เคล็ดลับ คือ เมื่อรู้สึกง่วงแล้วเท่านั้นถึงลงมานอนที่เตียง
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังหนักก่อนนอน ซึ่งจะทำให้นอนหลับได้ยาก
5. พยายามหลับให้ได้ด้วยตัวเอง หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ
ปัญหาการนอนไม่หลับ อดนอน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ แน่นอนว่าจะส่งผลเสียกับร่างกายทำให้ระบบร่างกายทำงานติดขัด จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูง และปัญหาด้านระบบหลอดเลือดหัวใจ ระบบภูมิคุ้มกันทำงานโดยมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหาสาเหตุให้พบ และทำการป้องกันและรักษาอย่างถูกต้อง
สรุป
นอกจากอาหารที่เราทานก่อนนอน การออกกำลังกาย ปรับสภาพบรรยากาศในห้องนอน ทำสมาธิ ยังช่วยให้เรานอนหลับสนิท นอนหลับง่ายมากขึ้นได้ แต่หากใครมีปัญหานอนไม่หลับขั้นรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และหาทางแก้ไขอย่างถูกต้องค่ะ
แหล่งที่มา
https://www.paolohospital.com/
https://www.sanook.com/health
https://mydeedees.com/%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%94%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%a1-%e0%b8%99%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b9%84%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%ab%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%9a/
|