เป็น โควิด19 ถ้าหากสระผม อาบน้ำได้ไหม จะป่วยหนักกว่าเดิมหรือเปล่า ?
ติดโควิด สระผม อาบน้ำได้ตามปกติไหม เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เกมกับ โควิด19 ระลอกนี้กันไปแล้วอาจข้องใจกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะคนที่มีอาการไข้สูง ตัวร้อนจี๋ ที่คิดไม่ตกว่าควรแค่เช็ดตัว หรืออาบน้ำ สระผมได้ตามปกติ เราหาคำตอบมาให้ตรงนี้แล้วค่ะ
ติด โควิด19 สระผม–อาบน้ำได้ไหม
ติดโควิด ไม่มีไข้ มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ
ในกรณีที่ติดโควิดแต่ไม่แสดงอาการป่วย ไม่มีไข้ ไม่ได้ปวดหัว ไม่อ่อนเพลีย แทบจะปกติดีทุกอย่าง หรือมีแต่อาการในระบบอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว ท้องเสีย ในเคสนี้สามารถอาบน้ำสระผมได้ตามปกติเลยค่ะ แต่หากวันไหนรู้สึกว่าอ่อนเพลีย อยากแต่จะนอน จะทำแค่เพียงเช็ดตัวก็ได้
ติดโควิด มีไข้สูง รู้สึกอ่อนเพลีย
หากมีอาการไข้ขึ้นสูง รู้สึกหนาว อ่อนเพลีย แนะนำให้เช็ดตัวแทนจะดีกว่าค่ะ เพราะการอาบน้ำเย็นจะทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบฉับพลัน กล่าวคือ ตัวเราร้อน ส่วนน้ำมีความเย็น เมื่อราดน้ำลงบนตัวก็จะทำให้เส้นเลือดหดตัว รูขุมขนก็จะปิด ระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยาก อีกทั้งอาจมีอาการหนาวสั่น และเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ได้ง่ายขึ้น หรือในเด็กเล็ก ๆ ก็อาจเสี่ยงต่อการช็อกได้
ส่วนการสระผมในช่วงที่มีไข้สูงก็ควรเลี่ยงไปก่อน เพราะต้องใช้เวลาชำระล้างอาจทำให้หนาวเกินไป และการที่ต้องเงยหน้าหรือก้มหน้าสระผมในช่วงที่ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียมาก อาจทำให้หน้ามืด เสี่ยงต่อการหกล้มฟุบในห้องน้ำได้
ดังนั้นในคนที่มีไข้สูง ๆ จึงควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่นเพื่อระบายความร้อนจะเหมาะสมที่สุดค่ะ ยกเว้นว่าเหนียวตัวจนทนไม่ไหวจริง ๆ ก็อาจจะพออาบน้ำอุ่นในช่วงบ่าย ๆ ได้ แต่ห้ามอาบน้ำเย็นเด็ดขาด และต้องรีบเช็ดตัวให้แห้งทันทีหลังอาบเสร็จ
วิธีเช็ดตัวลดไข้
-
เตรียมน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่นพอเหมาะ ไม่อุ่นจัด ไม่เย็นจัด
-
เตรียมผ้าเช็ดตัว หลาย ๆ ผืน
-
นำผ้าชุบน้ำ บิดให้หมาด แล้วเช็ดตัวโดยเช็ดย้อนรูขุมขน เช่น เช็ดจากปลายมือ ย้อนมาที่ต้นแขน หรือจากปลายขาย้อนขึ้นมาที่ลำตัว
-
หากเริ่มรู้สึกว่าความร้อนจากร่างกาย ระบายมาอยู่บนผ้าแล้ว ให้เปลี่ยนผ้าชุบน้ำใหม่
-
เช็ดตัวให้ทั่ว โดยเฉพาะบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น รักแร้ ข้อพับศอก ข้อพับขา
-
หมั่นเปลี่ยนผ้าชุบน้ำ แล้วเช็ดวนให้ทั่วร่างกายประมาณ 15 นาที เป็นอย่างต่ำ เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกายจนตัวเริ่มมีอุณหภูมิปกติ คือราว ๆ 36.2-37.5 องศาเซลเซียส
เชื้อโควิดอยู่ในร่างกายได้กี่วัน ถ้าหายป่วยแล้วจะยังแพร่เชื้อได้อีกไหม
โควิดกี่วันหาย อยู่ในร่างกายเราได้นานแค่ไหน เชื่อว่าเมื่อได้ทราบแล้วคงต้องยิ่งป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ติด COVID-19 แน่ ๆ
มีคนจำนวนมากที่ติดโควิด 19 หรือได้รับเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) สายพันธุ์โอมิครอน แล้วแสดงอาการป่วยเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลย หลายคนจึงไม่ค่อยแน่ใจว่า หลังหายป่วยแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะยังหลงเหลือในร่างกายอยู่ไหม แล้วจะแพร่ต่อไปให้คนอื่นได้อีกหรือเปล่า ใครสงสัย ลองมาอ่านข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ
โอมิครอน แพร่เชื้อให้คนอื่นได้ในช่วงไหน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอนจะมีช่วงเวลาที่แพร่เชื้อได้มากที่สุดคือ 1-2 วันก่อนแสดงอาการ และเมื่อแสดงอาการป่วยแล้ว จะแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วง 2-5 วันหลังเริ่มป่วย
โดยมีการศึกษาพบว่า เมื่อทำการเพาะเชื้อไวรัสในวันที่ 7 ยังเพาะเชื้อได้ถึง 25% แต่เพาะเชื้อไม่ขึ้นแล้วในวันที่ 14 นั่นหมายความว่า หลังติดเชื้อโควิดไปได้ 7 วัน อัตราการแพร่เชื้อจะเริ่มลดลง และเมื่อถึงวันที่ 14 ก็ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีก ดังนั้นทางการแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยกักตัวหรือแยกจากผู้อื่นประมาณ 10-14 วัน เพื่อตัดโอกาสการแพร่เชื้อ
เชื้อโควิดอยู่ในร่างกายได้นานแค่ไหน
ใครที่หายป่วย คือพ้น 14 วันแล้ว ถ้าลองตรวจ RT-PCR ยังอาจมีผลบวกอยู่ก็ได้ค่ะ เพราะมีซากเชื้อ หรือจุลชีพที่ถูกร่างกายทำลายจนหมดฤทธิ์แล้วหลงเหลืออยู่ แต่ตรงนี้ก็วางใจได้ว่าซากเชื้อนี้ไม่สามารถเพาะเชื้อและแพร่เชื้อได้อีกแล้ว
ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่ว่าเชื้อจะหมดไปจากร่างกายเสียทีเดียว เพราะผลพวงจากการติดไวรัสชนิดนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพไปได้อีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หรือในบางคนอาจลากยาวไปจนถึง 9 เดือน
โดยข้อมูลจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) พบว่า เชื้อ โควิด19 ที่เข้าสู่ร่างกายไม่ได้อยู่แค่ในระบบทางเดินหายใจ แต่ยังสามารถแบ่งตัวในเซลล์มนุษย์ส่วนอื่น ๆ และแพร่กระจายไปยังหัวใจ สมอง และเกือบทุกระบบของร่างกายภายในไม่กี่วันหลังจากติดเชื้อ
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่หายป่วยจากโควิดแล้ว ยังต้องเผชิญกับภาวะลองโควิด (Long Covid) หรืออาการคงค้างหลังหายป่วย ในหลายระบบของร่างกาย แม้ว่าตอนที่ป่วยโควิดอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลยก็ตาม
สอดคล้องกับที่ รศ. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลถึงงานวิจัยจากประเทศสเปนซึ่งได้ติดตามผู้ป่วยโควิด 29 คนที่มีอาการคงค้างต่อเนื่องอย่างน้อย 4 สัปดาห์ พบว่า สามารถตรวจพบสารพันธุกรรมไวรัสในเลือดของผู้ป่วยได้ถึง 45% และสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมในเลือด ปัสสาวะ หรืออุจจาระ อย่างใดอย่างหนึ่งในผู้ป่วยได้ 51% แสดงให้เห็นว่าเชื้อโควิด 19 กระจายไปทั่วร่างกาย ไม่ได้อยู่แค่เพียงระบบทางเดินหายใจเท่านั้น และทำให้เกิดอาการลองโควิดในหลายระบบ
อาการลองโควิด มีอะไรบ้าง
ภาวะลองโควิดที่พบในปัจจุบันมีมากกว่า 200 อาการ ที่พบค่อนข้างบ่อยก็คือ อาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย รวมทั้งอาการที่เกิดขึ้นกับระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น
– ระบบทางเดินหายใจ : ไอ เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจลำบาก
– ระบบประสาท : สมองเบลอ มึนงง ปวดหัว สมาธิสั้น มีความผิดปกติด้านการนอน
– ระบบทางเดินอาหาร : ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
– ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก : ปวดตามข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
– ปัญหาทางจิตเวช : ซึมเศร้า วิตกกังวล
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีอาการรุนแรงกว่านั้น เช่น หย่อนสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคสมองขาดเลือด ไตเสื่อม แม้กระทั่งในเด็กก็ยังเสี่ยงต่อภาวะ MIS-C ที่ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย
ถึงโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่ก็แฝงมาด้วยภาวะลองโควิดที่อยู่ในร่างกายได้นานหลายเดือน ซึ่งสิ่งนี้กลับส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไม่คาดคิด ดังนั้น หนทางที่จะป้องกันลองโควิดได้ดีที่สุดก็คือ ดูแลตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้ติดโควิด
ติดโควิด 19 รอบ 2 อันตรายขึ้นไหม อาการป่วยจะรุนแรงกว่าเดิมหรือเปล่า ?
ติดโควิดรอบ 2 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้คนที่เคยติดเชื้อโควิดไปแล้ว 1 ครั้ง ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะติดรอบ 2 ยากขึ้น
โควิด 19 เป็นโรคระบาดที่ยังคงคาดเดาความเป็นไปได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะกลายพันธุ์ไปอีกกี่เวอร์ชั่น หรือทำให้คนติดซ้ำกันได้อีกกี่ครั้ง อย่างสายพันธุ์โอมิครอนที่นอกจากจะแพร่กระจายเร็วแล้ว ก็ยังพบว่าทำให้คนติดโควิดรอบ 2 รอบ 3 จากสายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้นทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ดังนั้นเรามาเช็กข้อมูลกันหน่อยว่า หากติดโควิดรอบ 2 อาการจะหนักขึ้นหรือไม่ แล้วอันตรายยังไงอีกบ้าง
ติดโควิดรอบ 2 กี่เดือนถึงจะติดซ้ำ
จากข้อมูลพบว่า โควิด 19 สามารถติดซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ แม้การติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภูมิจะค่อย ๆ ลดลง ยิ่งมาเจอสายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 หรือ BA.2.75 หรือสายพันธุ์ย่อย XBB ตัวใหม่ ๆ ที่แพร่ได้ไวขึ้น แถมหลบภูมิคุ้มกันเก่งขึ้นก็เพิ่มโอกาสติดเชื้อได้อีกรอบ ซึ่งที่ผ่านมาพบบางคนติดเชื้อซ้ำหลังหายป่วยเพียง 1-2 สัปดาห์เลยด้วยซ้ำ หรือบางคนก็ป่วยรอบ 2 รอบ 3 หลังหายป่วยมาได้ 28 วัน หรือ 4 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิต้านทานที่มีจะอยู่ลดลงประมาณ 3 เท่า เมื่อมาเจอสายพันธุ์ใหม่ ๆ แม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้
ทั้งนี้ เคยมีการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ที่เคยติดโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา มีโอกาสติดโควิดซ้ำสูงกว่าคนที่ติดโควิดสายพันธุ์อัลฟา ประมาณ 46% แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ผลการวิจัยของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ก็ชี้ว่า มีความเสี่ยงติดเชื้อซ้ำมากกว่าสายพันธุ์เดลตา ถึง 5 เท่า เท่ากับว่าจากข้อมูลในปัจจุบัน ผู้ที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีโอกาสกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ด้วย
ติดเชื้อซ้ำได้เพราะอะไร
สำหรับสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ติดโควิดซ้ำ คือ
1. เกิดจากเชื้อโควิดที่หลบซ่อนอยู่ในร่างกายตั้งแต่การติดเชื้อครั้งแรก และเมื่อภูมิคุ้มกันเริ่มต่ำก็จะปะทุออกมา
2. เกิดจากการติดเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์ ทำให้ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ไม่สามารถรับมือกับสายพันธุ์ที่เคยติดมาก่อนได้ เช่น เคยติดโควิดสายพันธุ์เดลตา หรือโอมิครอน BA.2 มาก่อน ก็อาจติดโอมิครอน BA.4 BA.5 หรือ BA.2.75 รวมทั้งสายพันธุ์อื่น ๆ ในอนาคตซ้ำได้อีก
3. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว มักจะมีภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้ว แม้เคยติดโควิดก็อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ
4. ได้รับวัคซีนไม่ครบโดส ดังนั้นเมื่อภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อครั้งแรกลดลงก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก หากไม่ป้องกันตัวเองให้ดี โดยจากข้อมูลปัจจุบันควรได้รับวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม และในกลุ่มเสี่ยงควรกระตุ้นเข็มที่ 4 หรือฉีดกระตุ้นทุกปี เพื่อรับมือกับโควิดที่กลายพันธุ์
5. การไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง รวมไปถึงการมีมาตรการป้องกันตัวเองลดลงจากที่เคย
ติดโควิดรอบ 2 อาการจะรุนแรงขึ้นไหม
สำหรับประเด็นนี้มีข้อมูลทางการแพทย์ในต่างประเทศที่แสดงให้เห็นว่า การติดเชื้อซ้ำในบางคนจะเสี่ยงอาการรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เช่น จากรอบแรกอาจมีอาการแค่เจ็บคอ ไอ เล็กน้อย มีไข้ไม่กี่วัน หรือแทบไม่มีอาการ แต่หากติดเชื้อซ้ำอาจพบอาการปวดศีรษะ หรือมีไข้นานกว่าเดิมได้ด้วย แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ เคสที่การติดเชื้อซ้ำไม่ได้ทำให้อาการรุนแรงขึ้นแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อซ้ำยังเสี่ยงที่จะเกิดอาการลองโควิด (Long covid) มากขึ้นถึงร้อยละ 30 และหากได้รับเชื้อมาซ้ำ ๆ ก็ทำให้เกิดอาการผิดปกติหลังติดเชื้อได้นานขึ้น อีกทั้งยังอาจกระทบต่อโรคหัวใจ โรคสมอง เพิ่มภาระการดูแลสุขภาพมากกว่าเดิม หรือมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้มากขึ้นด้วย
สรุป
ในระยะที่เรามีไข้สูง อ่อนเพลีย ก็ทำแค่เช็ดตัว กินยาตามที่แพทย์สั่ง และพักผ่อนเยอะ ๆ ไปก่อน แต่หากอาการดีขึ้นแล้ว ไข้ลดลง เริ่มมีเรี่ยวแรงตามปกติ ค่อยอาบน้ำ–สระผม เพิ่มความรู้สึกสดชื่นให้ตัวเองก็ได้ค่ะ
แหล่งอ้างอิง
https://health.kapook.com/
https://mydeedees.com/%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%8a%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%81%e0%b8%b1/
|