[รีวิวซีรีส์] “Sanctuary” ท้าทายความโบราณแสนศักดิ์สิทธิ์ ให้กลายเป็นความเท่ด้วยซอฟต์พาวเวอร์
เรื่องย่อ: โอเซ คิโยชิ วัยรุ่นบ้านแตกที่ต้องการเงินมาช่วยพ่อหันหน้าเข้าหาวงการซูโม่เพื่อเงินเพียงอย่างเดียว แต่เขาก็แรงฮึดในการฝึกซูโม่โดดซ้อมเป็นประจำ ทั้งยังฝ่าฝืนประเพณีอันยาวนานทำการท้าทายอำนาจรุ่นพี่มากประสบการณ์อยู่เนือง ๆ เพียงเพราะเชื่อว่าเขาแข็งแกร่งกว่าใคร แต่อุปสรรคในชีวิตก็สอนให้เขาค่อย ๆ ซึมลึกเข้าสู่โลกของเกียรติยศในฐานะของนักซูโม่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ญี่ปุ่นยังแข็งแกร่งในการเป็นเจ้าแห่งซอฟต์พาวเวอร์อย่างเห็นได้ชัด ต้องยอมรับว่ากีฬาซูโม่ไม่ได้รับความนิยมอย่างเป็นสากลนัก คนทั่วโลกอาจรู้จักแต่ก็คงไม่อินหรือรู้สึกดูแล้วลุ้นเท่าคนญี่ปุ่น เราอาจมองซูโม่เป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมมากเสียกว่าด้วยพิธีรีตองยิบย่อยและรูปแบบที่มีความเฉพาะตัวซึ่งมันขัดกับค่านิยมยุคใหม่ ทั้งเรื่องการเพิ่มน้ำหนักตัวให้อ้วนเกินมาตรฐาน การนุ่งผ้าเตี่ยวโชว์เนื้อหนังมังสาแบบเน้นแก้มก้น และการรัดเกล้าผมแบบโบราณ ซึ่งอาจถูกวิพากย์ไปถึงขนบตกยุคที่ไม่สอดรับกับคติทางเพศในปัจจุบันจนดูเหมือนเป็นกีฬาที่เหยียดเพศ และถือเพศชายเป็นใหญ่ด้วย
ผู้กำกับ เองูจิ กัง (江口カン) ซึ่งเคยผ่านผลงานแอ็กชันตลกร้ายในวงการนักฆ่าอย่าง ‘The Fable’ (2019) และ ‘The Fable: The Killer Who Doesn’t Kill’ (2021) จึงได้เอาสไตล์ที่จริงจังโหดเข้มเจืออมยิ้มมาจับมือกับมือเขียนบทอย่าง คานาซาวะ โทโมกิ (金沢知樹) ซึ่งก็ถนัดในแนวดราม่าค้นหาความหมายของชีวิต โดยใช้ลีลาการเล่าเรื่องแบบมังงะสายกีฬาสำหรับเด็กผู้ชายหรือโชเน็น ที่มีทั้งการล้มลุกคลุกคลาน ความพยายามฝึกซ้อม ความกวนแหกคอก มิตรภาพและบอสใหญ่ที่เป็นเป้าหมาย ซึ่งรวมกันทั้งหมดที่ว่ามาแล้วดันลงตัวอย่างดี
เรื่องราวของ โอเซ วัยรุ่นหัวร้อนที่เก่งต่อยตีต้องประสบปัญหาทางบ้าน แม่ที่ทิ้งพ่อไปแต่ยังกลับมาเกาะขอเงิน ส่วนพ่อก็บริหารร้านซูชิเจ๊งจนมีหนี้สินและสุดท้ายก็ต้องมาล้มป่วยจากอุบัติเหตุ ความยากจนและไร้ผู้ใหญ่ให้พึ่งพา ทำให้โอเซหันหน้าหาอะไรก็ได้ที่ได้เงินมากอย่างรวดเร็วเพื่อหาเงิน 8 ล้านเยนมาชำระหนี้ให้พ่อ และซูโม่ก็คือทางเลือกที่เขาได้รับ ไม่ต่างจากในไทยที่เด็กในครอบครัวรายได้น้อยถูกส่งไปฝึกมวยไทยเพื่อค้าแข้งยอมเจ็บตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร้ทางเลือกมากมาย ตรงนี้ซีรีส์ปูบทมาได้ดีเพราะภาพของพ่อที่ป่วยและความลำบากของชีวิตนั้นคอยกลับมาตอกย้ำโอเซในจังหวะที่เขาต้องตัดสินใจบางอย่างเสมอ และทำให้เรารู้สึกเห็นใจแทนที่จะหมั่นไส้เวลาที่เขาเลือกทางผิดอย่างทิ้งการซ้อมไปเป็นของเล่นเศรษฐีเพื่อเงิน
และก็ตามสไตล์มังงะโชเน็นที่สุดท้ายตัวเอกก็ต้องเรียนรู้และเจอความผิดหวังต่าง ๆ มีตัวร้ายเป็นพวกผู้อาวุโสที่หวงความโบราณจนน่าหมั่นไส้คอยมากลั่นแกล้ง จนเกิดแรงฮึดคิดได้กลับมามีสมาธิกับการต่อสู้ โดยมีเหล่าเพื่อนพ้องและครูฝึกที่สนับสนุนให้กำลังใจ จนกลับไปเผชิญหน้ากับคู่แข่งคนสำคัญที่เน้นผลลัพธ์มิตรภาพมากกว่าการจะฆ่ากันให้ตาย โดยปูภูมิหลังให้บอสใหญ่เองก็น่าเห็นใจไม่แพ้กันกลายเป็นสองตัวเอกที่ยืนสมศักดิ์ศรีบนเวทีด้วยกันทั้งคู่ ตอกย้ำว่าการสร้างคู่แข่งแต่ต้องไม่สร้างตัวร้ายในเกมกีฬาเป็นเนื้อหาที่ญี่ปุ่นทำได้แข็งแรงมากจริง ๆ
ทั้งนี้หัวใจสำคัญก็คือคาแรกเตอร์ตัวเอกที่น่าสนใจมีเสน่ห์ชวนติดตาม ทั้งนี้นักแสดงอย่าง อิจิโนเสะ วาตารุ (ノ瀬ワタル) อาจผ่านหนังนักเรียนตีกันในแฟรนไชส์ ‘ไอ้อีกา’ จนคุ้นหน้าคุ้นตาดี แต่ก็ไม่ได้อยู่ในหมวดที่เรียกได้ว่าหน้าตาดีมีเสน่ห์จนเป็นตัวนำแล้วต้องดู แต่เพราะการวางที่ทางให้พระเอกดูซื่อบื้อดันเหมาะกับเขามาก เรียกว่าเลือกคนให้เข้าบทอาจส่งผลดีได้มากกว่าหน้าตาดีมาก่อนในกรณีนี้
เพราะสำคัญว่าตัวเอกในเรื่องนี้ต้องมีนิสัยชอบแหกกฎระเบียบจนบางทีก็ดูกวนโอ๊ย ช่วยทำให้คนรอบข้างและแม้แต่คนดูตั้งคำถามกับกรอบจำกัดต่าง ๆ ของประเพณีว่ามันจำเป็นหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาซูโม่ที่ผูกกับวัฒนธรรมอยู่สูงมากจนคนรุ่นใหม่อาจมองว่าน่าเบื่อ เรื่องนี้ก็ทำให้คนดูรู้สึกว่าซูโม่กลับมากินง่าย สนุกได้ และพอเข้าใจมันมากขึ้นจากการที่ผู้สร้างช่วยย่อยเอาสิ่งเกินจำเป็นออก ป้อนความเป็นสากลมากขึ้น จากนั้นเราก็จะเข้าใจสิ่งที่มันประกอบอยู่ในนั้นเองทั้งศัพท์เฉพาะและพิธีรีตองต่าง ๆ อย่างการขับลำนำก่อนการสู้โดยซีรีส์ไม่ต้องอธิบาย
เหมือนเราดูมวยไทยในแบบเวที One ที่เข้าใจง่ายเพราะมีความเป็น MMA ที่เป็นสากล แล้วพอเราเข้าใจกติการูปแบบ เวลามันสอดแทรกเรื่องการใช้ปี่บรรเลงหรือการไหว้มวยก่อนชกเราก็จะยอมรับวัฒนธรรมที่ประกอบอยู่ไปได้เอง ซึ่งการโน้มน้าวให้เรารู้จักมันสำหรับซีรีส์เรื่องนี้ใช้ผ่านสายตาของโอเซที่คลุกวงในต้องฝึกต้องเล่นเพราะแรงขับเรื่องหนี้ ส่วนมุมของการตั้งคำถามความล้าหลังโบราณก็ถูกท้าทายผ่านสายตาของนักข่าวสาวจบเมืองนอก ซึ่งล้วนเป็นแง่มุมการนำเสนอที่ชาญฉลาดทั้งสิ้น
บางทีการหยอดผสานวัฒนธรรมที่ย่อยยากและความบันเทิงให้เป็นเนื้อเดียวกันนี้ ประเทศที่ทำได้เก่งจนอาจต้องดูเป็นแบบอย่าง เช่นญี่ปุ่น อาจจะช่วยในการมองกลับมาที่บ้านเราและเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่าอะไรตัวไหนที่พอจะหยิบผสานได้เช่นกัน และจะใช้สูตรไหนที่เหมาะสม
ถ้าซูโม่ที่ดูไม่ได้เท่อะไร ‘Sanctuary’ ยังทำให้กลายเป็นอะไรที่สนุก เร้าใจ หามุมที่ทำให้เข้าใจความโบราณว่ามีคุณค่าน่ายกย่อง และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้บังคับให้รักให้ชื่นชม แต่ตั้งคำถามในเวลาเดียวกันด้วยมุมคิดแบบสมัยใหม่ ว่ามันเหมาะสมไหมกับการแบ่งว่านี่คือกีฬาสำหรับผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่อาจเหยียบย่ำเวทีได้ สะท้อนกับคำว่า แดนสิ่งศักดิ์ นั้นมันศักดิ์สิทธิ์เพราะความเข้าใจหรือการบังคับ แล้วค่อยกร่อนคำตอบให้ออกมาในใจผู้ชมเองว่าความศักดิ์สิทธิ์นั้นคืออะไร ก็เป็นกุศโลบายที่อาจมาปรับใช้กับเนื้อหาเชิงวัฒนธรรมที่สูงส่งจนแตะต้องไม่ได้หลายอย่างของไทยได้เช่นกัน
สิ่งเดียวที่น่าหงุดหงิดสำหรับซีรีส์ญี่ปุ่นหลายเรื่องทางเน็ตฟลิกซ์ ไม่ใช่การแสดงที่เกินมนุษย์อย่างที่เคยรู้สึกมาอีกต่อไปเพราะดูเหมือนผู้กำกับญี่ปุนหลายคนเปิดรับโลกภายนอกจนเป็นสากลมากขึ้นแล้ว สิ่งที่อาจต้องพัฒนาต่อไปคือ การตัดจบซีซันในจุดที่ค้างคาสุด ๆ เช่นนี้ ไม่ต่างจากซีรีส์ ‘Gannibal’ ในอีกแพลตฟอร์มเลย อาจจะต้องหาจุดพอดีที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกรับได้สักหน่อย เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีข่าวของการอนุมัติซีซัน 2 แต่อย่างใด และแม้จะได้อนุมัติก็ต้องรอคอยกันข้ามปีกว่าจะได้ดูทั้งที่ทิ้งแบบนี้ตอนต่อมันต้องมาอาทิตย์หน้าแล้วด้วยซ้ำ อยากดูตอนต่อไปแล้ว!
ขอบคุณรูปภาพจาก : entertainment.trueid.net
ขอบคุณแหล่งที่มา : entertainment.trueid.net
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net