เฟอร์นิเจอร์จากเปลือกทุเรียน ลดขยะ สร้างมูลค่าเพิ่ม
ทุเรียนเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคมากเท่าใด เปลือกทุเรียนเหลือทิ้งมากขึ้นเท่านั้น ถึงจะนำไปทำน้ำหมักและปุ๋ยได้ แต่ด้วยความยุ่งยากเสียเวลา พ่อค้าแม่ขายจึงเลือกที่จะนำไปทิ้งเสียเป็นส่วนใหญ่
ทำให้แต่ละปีมีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งหลายพันตัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงสนับสนุนทุนให้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี พัฒนาเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอยจากเปลือกทุเรียน ให้เข้ากับความต้องการของสังคมยุคใหม่ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy)
“เราสำรวจพฤติกรรมและความต้องการด้านการใช้สอยผลิตภัณฑ์ในการดำรงชีวิตของคนยุคใหม่ นำมาสู่การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกทุเรียนที่ตอบสนองการใช้งานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บ่งบอกรสนิยม และสุนทรียะในการดำรงชีวิต โดยมุ่งเน้นกระบวนการผลิตในระดับชุมชนหรือผู้ประกอบการครัวเรือน และวางแผนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีหรือผู้สนใจทั่วไป เพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการด้านที่พักอาศัย รวมถึงร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกในท้องถิ่นและร้านค้าออนไลน์”
ดร.จุฑาทิตย์ นามวงษ์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี หัวหน้าโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากเปลือกทุเรียน
เพื่อการใช้สอยในยุคสังคมใหม่ อธิบายถึงงานวิจัย ที่นอกจากจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้ชาวบ้านในพื้นที่ จ.จันทบุรีแล้ว ยังช่วยลดปริมาณขยะได้กว่าปีละ 3 พันตัน
จากการศึกษาพบว่าเปลือกทุเรียนมีเยื่อเซลลูโลส ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการเตรียมคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยพันธุ์ที่มีปริมาณเซลลูโลสมากที่สุด 53% คือหมอนทอง
นอกจากนี้ยังนำไปทำกระดาษที่มีความสวยงาม แต่ขาดความคงทน เพราะเส้นใยทุเรียนมีขนาดสั้น ทำให้การยึดติดระหว่างเยื่อไม่แข็งแรง จึงต้องผสมเยื่อชนิดอื่นๆร่วมด้วย
สำหรับเปลือกทุเรียนที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอย ได้แก่ หมอนทอง ชะนี และกระดุม เพราะมีปริมาณเปลือกเหลือใช้จำนวนมาก และหาง่ายที่สุด โดยนำไปแปรรูปเป็นแผ่นกระดาษ แผ่นไม้อัด ด้วยกรรมวิธีการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อน และทำเป็นเครื่องใช้สอยต่างๆ ด้วยการขึ้นรูปแบบอิสระ และสามารถนำไปอัดเคลือบเรซินเพื่อให้วัสดุเงางาม ไม่เป็นฝุ่น
คณะวิจัยยังค้นพบการเก็บรักษาเปลือกทุเรียนไว้ใช้ในช่วงขาดแคลนด้วยการดองจากเปลือกสด โดยแช่น้ำให้ท่วมและปิดฝาให้สนิท สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-6 เดือน เพราะเปลือกทุเรียนมีสารกำมะถันเจือปนอยู่ จึงรักษาความขาวของเปลือกทุเรียนไว้ได้ และควรเปลี่ยนน้ำล้างเป็นระยะ เพื่อลดการเน่าเสียของเปลือกทุเรียน
ดร.จุฑาทิตย์ อธิบายต่อไปว่า เมื่อคณะวิจัยได้พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สอยหรือวัสดุตกแต่งบ้าน อาทิ ชั้นวางของ เครื่องใช้สอยประเภทกรอบรูป กระถาง และตะกร้า ทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ช่วยลดขยะจากเปลือกทุเรียนในพื้นที่ ช่วยลดปริมาณการขนส่ง และกำจัดขยะของเทศบาลต่างๆ เนื่องจากเปลือกทุเรียนมีลักษณะแข็ง จึงสิ้นเปลืองพื้นที่การจัดเก็บ และใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าขยะอื่นๆ อีกทั้งก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้แก่คนในชุมชน และตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้โดดเด่น
“ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สอยที่มีรูปแบบเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกหรูหรา ราคาแพง ประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ใช้งานสะดวกสบาย จากการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคเห็นว่า ผลิตภัณฑ์มีความแปลกใหม่น่าสนใจ ราคาเหมาะสม แต่ควรปรับปรุงเรื่องน้ำหนัก ความแข็งแรงทนทานในการใช้งาน และสร้างความหลากหลายเรื่องสีสัน ลวดลาย ให้สดใสสวยงามตามสมัยนิยม”
ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านความสมบูรณ์ของทรัพยากร แต่ยังขาดแนวคิดที่ดีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาดสากล พร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ตัวตน และรากเหง้าของวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่ การพัฒนาเปลือกทุเรียนมาใช้ประโยชน์ย่อมเสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกนับสิบตัว.
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net