รีวิวหนัง “หุ่นพยนต์” หนังไทยเรื่องล่าที่ติดเรต ฉ. แต่ไม่เห็นสยอง..ถึงขนาด 20+
อาจจะกลายเป็นประเด็นที่ฮือฮาเบา ๆ เพราะอยู่ ๆ หนังสยองขวัญเรื่องล่าสุดจาก ไฟว์สตาร์ อย่าง “หุ่นพยนต์” หรือชื่อใหม่ “ปลุกพยนต์” เกือบจะไม่ได้ฉาย เพราะเสี่ยงไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ของไทย จนแล้วจนเล่าหนังก็ได้ติดเรต ฉ. 20+ มาครอง กลายเป็นเรตติ้งหนังที่สูงลิบและต้องจำกัดอายุผู้ชมอย่างเคร่งครัด ว่าแต่หนังเรื่องนี้มีอะไรที่รุนแรงหรือหวาบหวิวอะไรขนาดนั้น ถึงกับต้องติดเรตหนังที่ไม่ค่อยมีใครอยากจะได้สักเท่าไหร่ในไทย
*หมายเหตุ บทความรีวิวนี้เป็นการอ้างอิงเนื้อหาจากเรื่อง หุ่นพยนต์ ฉบับเรตติ้ง ฉ.20-
รีวิวหนัง หุ่นพยนต์
หุ่นพยนต์ เป็นเรื่องราวของ ธาม ดั้นด้นเดินทางมาหาพี่ชาย ที่วัดบนเกาะดอนสิงธรรม เพื่อแจ้งข่าวร้ายกับการจากไปของพ่อและแม่ เมื่อธามเดินทางมาถึงก็ได้พบกับ เจษ หลานชายของเจ้าอาวาสคนเก่า และมีข่าวลือว่าพี่ชายของเขาได้หนีหายสาบสูญหลังจากลงมือฆ่าอดีตเจ้าอาวาสจนมรณภาพ
ธามไม่เชื่อกับข่าวลือพอ ๆ กับการไม่นับถือหุ่นปั้นพ่อปู่สิงธรรมที่ดูเหมือนภูติผีมากกว่าเทพที่คอยปกปักรักษา จนกระทั่งเกิดเหตุอาเพศในหมู่บ้าน เมื่อมีหญิงสาวคนหนึ่งสูญหาย สัตว์ร้ายออกเพ่นพ่าน ผีตายโหงออกอาละวาด ชาวบ้านโกรธแค้นเตรียมตั้งพิธีกรรมสาปแช่งถึงมือมืด เตรียมตัวเผชิญหน้ากับความน่ากลัวครั้งใหม่ ถ้าเล่นกับความงมงาย ท้าทายกับศรัทธา ต้องกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น!
เรื่องนี้ยังคงเป็นผลงานของผู้กำกับลูกหม้อของไฟว์สตาร์ อย่าง “ไมค์ ภณธฤต” ผู้ที่สร้างเฟรนไชส์ พี่นาค เปรี้ยงปังให้กับสตูดิโอแห่งนี้มาตั้งไตรภาคที่ผ่านมา และมาใน หุ่นพยนต์ เรื่องนี้นั้น อาจจะมีในมุมที่แตกต่างและมุมที่ซ้ำซากเดิม ๆ ตามลายเส้นงานสร้างเก่า ๆ ของผู้กำกับรายนี้ แน่นอนว่าหนังยังคงวนเวียนอยู่กับความสยองที่โดดเด่นในตัวละครพระเณรเหมือน ๆ กับหนังสร้างชื่อของเขา แต่ก็สร้างความแตกต่างด้วยการหยิบเอาประเด็นไสยศาสตร์และศาสตร์มืดมาใช้เป็นประเด็นของเรื่อง
และนี่นั่นเองที่กลายเป็นมาเป็นสาเหตุที่ทำให้ หุ่นพยนต์ เป็นหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ได้รับเรต ฉ. 20+ จากกองเซ็นเซอร์หนังของไทย เพราะหนังเรื่องนี้มีแกนเรื่องหลัก ๆ เชื่อมโยงเกี่ยวกับความเชื่อและกระทบต่อพุทธศาสนา ที่ทางคณะกรรมการได้ให้ความเป็นห่วงว่าหนังจะมีเนื้อหาที่สอดแทรกแนวคิดที่หมิ่นเหม่ต่อเรื่องหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ แต่เมื่อได้ลองไปสัมผัสกับตัวหนังจริง ๆ ก็จะได้พบว่าสิ่งที่บางฝ่ายเป็นกังวลนั้น ช่างเป็นแนวคิดที่เซฟซิทีฟมากเกินกว่าเหตุ
ประเด็นเรื่องของ หุ่นพยนต์ แทบจะไม่ได้เน้นหลักเกี่ยวกับเรื่องพุทธศาสนาอย่างที่คิด เป็นเพียงหยิบเอาเรื่องศาสนามาสอดแทรกเป็นฉากหลังบาง ๆ เพียงเท่านั้น แต่หนังกลับเน้นไปที่ประเด็นความเชื่อ ความน่ากลัว ความสยองขวัญ รวมทั้งสะท้อนปัญหาและมุมมืดของพุทธพาณิชย์ที่แค่แตะไปเพียงเบา ๆ เท่านั้นเอง เพราะในท้ายที่สุดหนังก็ยังคงสามารถสรุปความผิดชอบชั่วดี และผลแห่งการกระทำของตัวละครตามสูตรสำเร็จอยู่แล้ว ที่เชื่อว่าผู้ชมน่าจะมีวิจารณญาณในการเสพหนังเรื่องนี้ได้ดี
แต่ถึงแม้ว่า หุ่นพยนต์ จะมีประเด็นและแก่นเรื่องที่ค่อนข้างหนักแน่นดี แต่น่าเสียดายไปสักหน่อย เพราะกลายเป็นว่าหนังยังโครงสร้างและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ยังประกอบรวมร่างกันออกมาได้ยังไม่สมบูรณ์แบบสักเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะจังหวะการเล่าเรื่องและการตัดต่อของหนัง ที่มีหลาย ๆ จุดที่เต็มไปด้วยรอยสะดุด ร้อยเรียงได้ไม่เรียบเนียน มีบางช่วงที่เกิดอาการเหมือนหนังตัดปะ ซึ่งนั่นเป็นข้อด้อยที่ทำให้เสียบรรยากาศที่หนังกำลังถ่ายทอดอยู่ไป
บทหนังของ หุ่นพยนต์ อาจจะยังไม่ดีเลิศ แต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่อะไร ถือว่าเป็นหนังสยองขวัญที่หยิบเอาสูตรสำเร็จมาใช้งานได้เกิดประโยชน์อยู่ เหมือนหยิบเอาเสน่ห์ของ พี่นาค กับหนังไสยศาสตร์ในตำนาน อย่าง ลองของ มาคลุกเคล้าเล่าในขวดใหม่กับยุคปัจจุบันที่ชวนติดตามแกะรอยหาปริศนาไปกับตัวละครด้วย แม้ว่าในเชิงการสร้างมิติต่าง ๆ ของหนังเรื่องนี้ยังค่อนข้างเบาบางไปอยู่สักหน่อยก็ตาม ซึ่งนั้นก็ส่งผลกระทบไปยังคาแรกเตอร์ตัวละครต่าง ๆ ในหนังด้วย
หนังอาจจะใช้สูตรเดิมที่ใช้บริการนักแสดงดาวรุ่งแทบจะทั้งหมด “ภูวิน ภูวินทร์” ถือว่าปลดแอกกับผลงานหนังใหญ่เรื่องแรกของเขา นับว่าการแสดงของเขาทำออกมาได้ค่อนข้างน่าพอใจ แม้ว่าจะยังไม่ใช่ผลงานที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็จัดได้ว่าดีตามมาตรฐาน และน่าเสียดายที่บทของเขานั้นได้รับการถ่ายทอดออกมาค่อนข้างไร้ชั้นเชิงและไม่มีมิติมากสักเท่าไหร่นัก เป็นตัวละครจืด ๆ ที่ดำเนินไปตามโครงเรื่องแบบไม่ออกนอกกรอบเลย
“อัพ ภูมิพัฒน์” ที่ถือว่าเซอร์ไพรส์เบา ๆ กับการพลิกคาแรกเตอร์ในหนังเรื่องนี้ เพราะเขาต้องมารับบทเป็นหนุ่มที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ก็ถือว่าเขาถ่ายทอดและทำมันออกมาได้ค่อนข้างน่าพอใจ และกลายเป็นตัวละครที่โดดเด่นที่สุดในหนังเรื่องนี้ ถึงการดีไซน์การแสดงของเขายังติดการเป็นนักแสดงอยู่ไปน้อยก็ตาม การตีความและนำเสนอบทนี้ของเขายังไม่ค่อยทำให้คนดูเชื่อได้อย่างเต็มที่ แต่นั่นก็อาจจะเป็นลูกเล่นที่หนังซ่อนเอา
ขณะที่นักแสดงคนอื่น ๆ ทั้ง “นิก คุณาธิป”, “เจมส์ ภูริพรรธน์” หรือ “การ์โตว์ ปัณณวิชญ์” ถือว่าทำออกมาได้ตามมาตรฐาน พวกเขาดูกลายจะเป็นบทสมทบหลัก ๆ ของหนังไฟว์สตาร์ยุคนี้ไปแล้ว แต่อีกคนที่อยากจะชมสักหน่อยก็คือ “นาน่า ทสร” ที่น่าจะเป็นนักแสดงหญิงหลัก ๆ คนเดียวของหนัง ที่ให้การแสดงที่เกินกว่าที่คิดเอาไว้ทีเดียว ทั้งท่วงท่าและจังหวะการแสดงของเธอ ผนวกกับบทที่ส่งสุด ๆ สามารถถ่ายทอดออกมาได้น่าขนลุกขนพองดี
หุ่นพยนต์ อาจจะมีจุดด้อยในส่วนของการเล่าเรื่องกับจังหวะต่าง ๆ ของหนัง แต่จุดเด่นของหนังเรื่องนี้ที่ต้องยกนิ้วให้เลยก็คือองค์ประกอบงานสร้างและโปรดักชั่นดีไซน์ต่าง ๆ ที่สอดแทรกเข้ามาในการสร้างบรรยากาศความน่ากลัวให้กับผู้ชม ที่ถือว่ามีส่วนทำปฏิกิริยาของคนดูได้ดี โดยเฉพาะการเนรมิตเซ็ตฉากต่าง ๆ ในพื้นที่วัดเทพยนต์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่าเทวสถาน หรือ ลานรูปแบบพระพุทธรูป เป็นโลเคชั่นที่ทำงานกับต่อมความกลัวได้ดี
ขณะที่มุมภาพ มุมกล้อง และการแต่งสีโทนภาพต่าง ๆ ของหนังเรื่องนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีเช่นกัน เป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างบรรยากาศให้กับหนังเรื่องนี้ได้อย่างดี ดังนั้นในภาพรวมแล้ว หุ่นพยนต์ ก็ถือว่าเป็นหนังสยองที่อาจจะมีศักยภาพที่จะสามารถทำออกมาเป็นเฟรนไชส์ใหม่ได้ไม่ยาก เพราะยังสามารถนำเอาไปต่อยอดได้อีกไกลเช่นกัน เพียงแต่เสน่ห์และความสดใหม่ของหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยข้างสุกสกาวมากเท่าไหร่ เพราะดันไปซ้ำกับความรู้สึกเดิม ๆ แบบที่ พี่นาค หรือ ลองของ เคยทำเอาไว้และทำได้ดีมาก่อนหน้านี้แล้ว
ข้อมูลเกี่ยวกับหนัง หุ่นพยนต์ / ปลุกพยนต์
ประเภท: สยองขวัญ
ผู้กำกับ: ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ
นำแสดงโดย: ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน, ภูมิพัฒน์ เอี่ยมสำอาง, คุณาธิป ปิ่นประดับ
ความยาว: 107 นาที
กำหนดฉายในไทย: 12 เมษายน 2023 (ในโรงภาพยนตร์)
Movie.TrueID METRIC: หุ่นพยนต์ / ปลุกพยนต์
ภาพรวม
✰✰✰ (7/10)
การเล่าเรื่อง
✰✰✰✰ (6/10)
การแสดง
✰✰✰ (7/10)
เทคนิคงานสร้าง
✰✰✰ (7/10)
บทภาพยนตร์
✰✰✰✰ (6/10)
ขอบคุณรูปภาพจาก : entertainment.trueid.net
ขอบคุณแหล่งที่มา : entertainment.trueid.net
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net