แรงงานไทยหนี้บาน-ไร้เงินออม ร้องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาทดูแลค่าครองชีพ-สวัสดิการ
ม.หอการค้าไทยเปิดผลสำรวจพบแรงงานไทย 99.1% มีหนี้บาน กังวลตกงาน ไร้เงินออม–อาชีพเสริม ร้องรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท ด้านโพล ส.อ.ท.ชี้การจ้างงานเข้าสู่ภาวะปกติหลังผ่านพ้นโควิด
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย กรณีศึกษาผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จาก 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศระหว่าง วันที่ 18-24 เม.ย.66 ว่า แรงงานไทยมากถึง 99.1% ระบุมีหนี้เพิ่มขึ้นจากปี 65 ที่ตอบมีหนี้ 99.0%มีเพียง 0.9% ที่ระบุไม่มีหนี้ คิดเป็นมูลค่าหนี้สูงถึง 272,528 บาท เพิ่มขึ้น 25.04% เทียบกับปี 65 ที่มีหนี้ 217,952 บาท โดยเป็นหนี้ในระบบ 79.85% และหนี้นอกระบบ 20.2% ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่กู้มาเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนี้บัตรเครดิตใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ใช้คืนหนี้เก่า ยานพาหนะ การศึกษา เป็นต้น และมีภาระผ่อนชำระต่อเดือนเฉลี่ย 8,577 บาท โดยหนี้นอกระบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 15.47% ต่อเดือน ส่วนในระบบอยู่ที่ 8.76% ต่อเดือน
สำหรับสาเหตุที่ก่อหนี้เพิ่ม ส่วนใหญ่เป็นเพราะรายได้ไม่พอรายจ่าย จากค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้ไม่เพิ่ม ดอกเบี้ยสูงขึ้น รายได้ลดลง ตกงาน มีของต้องการซื้อเพิ่มขึ้น แม้พยายามทำอาชีพเสริม ยืมจากญาติพี่น้อง ขายทรัพย์สิน ใช้จ่ายเท่ากับรายได้ ประหยัด แต่ยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความสามารถในการชำระหนี้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มากถึง 70.5% ตอบไม่มีปัญหา มีเพียง 29.5% ที่มีปัญหา และในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา 58.5% ระบุไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ อีก 41.5% ผิดนัด เพราะหมุนเงินไม่ทัน ตกงาน รายได้ไม่พอรายจ่าย มีค่าใช้จ่ายหลายทาง โดยผู้ตอบเกือบ 40% ยังกังวลการตกงานปานกลางถึงมากที่สุด โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ ร้านอาหาร พนักงานเอกชน อีกทั้งมากถึง 73.5% ไม่มีเงินออม และ 84.1% ไม่มีอาชีพเสริม
“แรงงานตัวอย่างส่วนใหญ่บอกว่ารายได้ในปัจจุบันส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง มีหนี้เพิ่มขึ้น ต้องประหยัดมากขึ้น และไม่มีความสามารถในการรักษาพยาบาล ต้องหาสถานพยาบาลฟรี ดังนั้น เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน แต่หากขึ้นค่าแรงแล้วอาจทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นอีกนั้น ก็รับไม่ได้ จึงเสนอให้นายจ้าง และรัฐบาลมีมาตรการดูแล หรือช่วยเหลือค่าครองชีพให้เหมาะสมกับผู้มีรายได้น้อย เพิ่มสวัสดิการ กระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัว”
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มูลค่าหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 272,528 บาท เพิ่มขึ้น 25.04% จากปี 65 ถือเป็นมูลค่าหนี้ที่สูงสุดในรอบ 14ปี หรือตั้งแต่เริ่มสำรวจมา แต่ถ้าเจาะลึกในรายละเอียด พบว่า มีการก่อหนี้เพื่อการลงทุน สร้างความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนผู้ตอบมากถึง 14.1% จากปี 65 ที่ตอบเพียง 0.5% และยังพบอีกว่าผู้ตอบ 20.2% มีหนี้นอกระบบ ลดลงจากปี 65 ที่อยู่ที่ 31.1% ต่ำสุดในรอบ 14 ปี ถือเป็นความสำเร็จของทางการที่ทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินในระบบมากขึ้น
“จากผลสำรวจพบว่าแม้แรงงานมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่เป็นหนี้เพื่อลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต ที่สำคัญส่วนใหญ่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้และไม่เบี้ยวหนี้ เชื่อว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนจะดีขึ้นเป็นลำดับ”
ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ทำการสำรวจความเห็นหรือ ส.อ.ท.โพลภายใต้หัวข้อมุมมองของภาคอุตสาหกรรมต่อการจ้างงานและการปรับตัวของแรงงานในอนาคตรองรับวันแรงงานวันที่ 1 พ.ค.นี้ โดยผลสำรวจพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า อัตราการจ้างงานในปัจจุบันได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนโควิด-19 แล้ว และคาดว่าปีนี้การจ้างงานจะยังมีแนวโน้มคงที่ต่อไป
“ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางการจ้างงานของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงมีการเริ่มใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมาช่วยในกระบวนการผลิตทดแทนการใช้แรงงานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาประสิทธิภาพแรงงาน ดังนั้นผู้บริหาร ส.อ.ท.ได้เสนอให้ภาครัฐเร่งสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน (Labor Productivity) โดยเฉพาะการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) และการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล ฯลฯ”.
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net