ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความท้าทาย
ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังบทสัมภาษณ์ของผู้ว่าการแบงก์ชาติในหลายเวที ซึ่งได้ให้มุมมองภาพเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าจะไปในทิศทางใด มีประเด็นใดบ้างที่ต้องจับตา บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอนำประเด็นนี้มาเล่าให้กับท่านผู้อ่านในวันนี้ค่ะ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับหลายความท้าทาย เริ่มตั้งแต่ วิกฤติโควิด-19 ในปี 2563-2564 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากเพราะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง ซึ่งเมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้กลับได้รับผลจาก สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและเงินเฟ้อทั่วโลกรวมถึงเงินเฟ้อไทยเร่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จนธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกพร้อมใจขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับแข็งค่าขึ้นมาก และเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบหลายปี
นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น จนเกิดปัญหา “น้ำลด ตอผุด” น้ำที่ลดมาจากการที่คงดอกเบี้ยในระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็น เพราะสภาพคล่องสูง ดอกเบี้ยต่ำ แต่เมื่อน้ำลงและลงเร็วจากดอกเบี้ยที่ขึ้นแรง สภาพคล่องหด ปัญหาจึงผุดให้เห็นตัวอย่าง เช่น ปัญหาภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปในช่วงต้นปีนี้ แม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายมาอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจไทยสามารถผ่านพ้นความท้าทายไปได้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ การฟื้นตัวมีความชัดเจนขึ้น สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ทยอยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เช่น จากที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเลยในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 63 แต่จากต้นปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาไทยต่อวัน ทยอยเข้าใกล้ช่วงก่อนโควิดแล้ว
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผู้ว่าการให้มุมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน จากแรงขับเคลื่อนของภาคท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน โดยจีดีพีไทยกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว ปีนี้คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 3.6% เทียบกับปีก่อนที่โตต่ำกว่า 3% ซึ่งเครื่องชี้เศรษฐกิจโดยรวมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีแนวโน้มจะปรับดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก
เช่น การส่งออกสินค้าจะปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วน ด้านเงินเฟ้อโดยรวมมีทิศทางลดลง หลังปัจจัยด้านอุปทานคลี่คลาย แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะยังมีความเสี่ยงสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจแบกรับต้นทุนสูงต่อเนื่องและธุรกิจบางส่วนยังอั้นราคาไว้ รวมถึงอาจมีแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว สำหรับ เสถียรภาพด้านต่างประเทศและระบบการเงินของไทยยังเข้มแข็ง
ส่วนหนึ่งสะท้อนจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และฐานะการเงินของสถาบันการเงินไทยที่แข็งแกร่ง แต่ยังต้องดูแลปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและลดลงช้า ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขเพราะเป็นปัญหาสะสมมานาน
นอกจากนี้ ผู้ว่าการได้กล่าวถึง ความเสี่ยงที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือของปี คือ ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนต่อเศรษฐกิจเอเชียรวมถึงไทย ที่ในระยะหลังเศรษฐกิจจีนเติบโตจากภาคบริการ และเน้นเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ
ทำให้อาจไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของภูมิภาคและไทยมากเท่าในอดีต ปัญหา “น้ำลด ตอผุด” ที่อาจเกิดในจุดอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะ non-bank ที่มีปัญหาหนี้สูง รวมถึง นโยบายหาเสียงแปลกๆ ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ นโยบายที่บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศในระยะต่อไป ทั้งเสถียรภาพด้านราคา เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน และเสถียรภาพการคลัง เสถียรภาพเหล่านี้เปรียบเหมือนสุขภาพของคนเรา ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญจนกว่าจะเกิดปัญหา โดยทั่วไปวิกฤติทางเศรษฐกิจมักจะเกิดจากเสถียรภาพที่หายไป ดังนั้นนโยบายที่จะมากระทบหรือบั่นทอนเสถียรภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาดูค่ะ.
ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th
ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th
ติดตามข่าวสารได้ที่ have-a-look.net