“ผ่าฟันคุด” กับอันตรายจากผลข้างเคียงที่ควรระวัง
ผ่าฟันคุด เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต แต่ผ่าฟันคุดอาจมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะมีความเสี่ยงน้อยมาก แต่หากมีความผิดปกติหลังผ่าฟันคุด ควรรีบพบทันตแพทย์ทันที
เรื่องของการทำฟันที่หลายคนกลัวกัน นอกจากการกรอฟัน อุดฟันตามปกติแล้ว การผ่าฟันคุดถือเป็นทันตกรรมครั้งใหญ่ที่หลายๆ คนพยายามหลีกเลี่ยง (แม้ว่าจะเลี่ยงไม่ได้) เพราะได้ยินเสียงลืมเสียงเล่าอ้างว่ามันปวด มันทรมาน และทำเอากินข้าวไม่อร่อยไปอีกนาน นอกจากนี้ยังมีอันตรายที่เราควรระวังอีกด้วย
ฟันคุด คืออะไร?
ทพ.นิวัฒน์ พันธุ์ไพศาล งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่
ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติแล้วฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18-25 ปี อาจโผล่ขึ้นอยู่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่นๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย
อาการของฟันคุด
เราจะทราบว่ามีฟันคุดเกิดขึ้นเมื่อพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เอกซเรย์ดูว่ามีฟันคุดอยู่ในเหงือกหรือไม่ ตรงไหนบ้าง
ทำไมต้องผ่าฟันคุด?
เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะอาจมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจมาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดและบวมเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย
เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่สองที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก เพราะแรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมา อาจทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไปได้
เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก เพราะฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน อาจเกิดเนื้อเยื่อหุ้มรอบฟันคุด อาจทำให้เนื้อเยื่อขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่อาจแสดงอาการอะไรให้เห็นหรือรู้สึก จนเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียง และกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น
เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อน เมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
บางรายต้องผ่าฟันคุดเพื่อจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่ สาม ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ
ขั้นตอนในการผ่าฟันคุด
ทันตแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อระงับความรู้สึก หลังจากนั้นก็จะเปิดเหงือกให้เห็นฟัน แล้วใช้เครื่องกรอตัดฟันออกมา ล้างทำความสะอาดและเย็บแผลปิด จากนั้นสามารถกลับบ้านได้ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล
อาการที่พบหลังผ่าฟันคุด
- อาจมีอาการปวด และบวมบริเวณแก้มด้านที่ทำการผ่าตัดราว 2-3 วัน
- อ้าปากได้น้อยลง ทานยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะที่ได้รับไปอาการก็จะบรรเทาลงได้
- ต้องรับประทานอาหารอ่อนไปก่อนสักระยะ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล
- พูดได้ตามปกติ แต่อย่าพูดมากกว่าปกติ เพราะอาจจะเจ็บแผลได้
อันตรายจากผลข้างเคียงที่ควรระวังจากการผ่าฟันคุด
- หลังคายผ้าก๊อซแล้วยังมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากผิดปกติ
- มีไข้หรือมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัด 2-3 วันแล้วอาการปวดบวมยังไม่ทุเลา แต่กลับมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น
- มีอาการชาของริมฝีปากล่างนานผิดปกติทั้งที่หมดฤทธิ์ของยาชาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ผลแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมาก ไม่ต้องกังวลจนกลัวแล้วไม่ยอมไปผ่าตัดฟันคุด เพราะถ้าเก็บฟันคุดไว้กลับจะมีอันตรายมากยิ่งกว่า
แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ได้ทันที เพื่อหาทางแก้ไข
ภาพประกอบจาก istockphoto
ขอบคุณรูปภาพจาก : sanook.com
ขอบคุณแหล่งที่มา : sanook.com
ติดตามข่าวสาร ได้ที่ : thaigoodherbal.com