7 พฤติกรรมทำร้าย “ไต” ทั้งที่ไม่ได้กินเค็มก็เป็นโรคไตได้
หากพูดถึง “โรคไต” หลายคนคงคิดออกตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินว่า “เพราะทานเค็มมากเกินไป” แต่ Sanook Health จะมาบอกว่า ไม่ใช่อาหารรสเค็มเท่านั้นที่เป็นสาเหตุของโรคไต คุณอาจยังไม่ทราบ และเผลอทำร้ายไตของตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว!
โรคไต เป็นชื่อที่เรียกรวมอาการ และ/หรือความผิดปกติที่เรียกว่า พยาธิสภาพ ที่เกิดขึ้นบริเวณไตที่ทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกายและการรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายมนุษย์เกิดภาวะขัดข้อง ซึ่งโรคที่เกิดขึ้นกับไตมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่
- โรคไตวายฉับพลัน
- โรคไตวายเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นตามหลังจากการเกิดโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง
- โรคไตอักเสบเนโฟรติก
- โรคไตอักเสบจากภาวะภูมิคุ้มกันสับสน
- โรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคถุงน้ำที่ไต
สาเหตุของการเกิดโรคไต
ผู้ป่วยเป็นมาตั้งแต่กำเนิด อาทิ มีไตข้างเดียว หรือไตนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน หรืออาจเป็นโรคไตเป็นถุงน้ำ โดยโรคเหล่านี้สามารถสืบต่อกันได้ทางกรรมพันธุ์ด้วย
เกิดจากการอักเสบ อาทิ โรคของกลุ่มเลือดฝอยในไตอักเสบ
เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียเป็นส่วนใหญ่ อาทิ กรวยไตอักเสบ ไตเป็นหนอง หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
เกิดจากการอุดตัน อาทิ จากนิ่ว ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งมดลูกไปกดท่อไต
เกิดเนื้องอกขึ้นที่ไต ซึ่งมีอยู่หลายชนิด
โรคไต มีอาการอย่างไร
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเฉียบพลันนั้นจะมีอาการสำคัญอยู่ 2 อย่างที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ หรืออาจไม่มีปัสสาวะ
ส่วนในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังเมื่อเริ่มเป็นนั้น จะไม่มีอาการแสดงออกที่ชัดเจน แต่จะมีอาการก็ต่อเมื่อเป็นโรคมากแล้ว จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ป่วยที่เดินทางมาพบแพทย์ส่วนใหญ่ด้วยอาการของโรคไตนั้นป่วยเป็นไปโรคไตเรื้อรังระยะที่รุนแรง อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีอยู่ด้วยกันหลายอาการดังนี้ …
- มีอาการปัสสาวะผิดปกติ อาจมีปัสสาวะมาก ปัสสาวะน้อย ไปจนถึงไม่มีปัสสาวะเลย โดยที่ปัสสาวะนั้นอาจขุ่น หรือใสเหมือนน้ำ อาจมีสีเข้ม เป็นฟองตลอดเวลา ในบางคราวก็อาจมีเลือดปน และ/หรือมีกลิ่นที่ผิดปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- รู้สึกเบื่ออาหาร หรืออาหารที่รับประทานเข้าไปมีรสชาติแปลก ทั้งนี้ก็อาจเกิดโดยผลจากของเสียที่สะสมในร่างกาย
- รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเกิดมาจากการสะสมของของเสียในร่างกาย
- มีอาการคันที่เกิดจากการระคายเคืองบริเวณผิวหนังจากของเสียต่างๆ
- ตัวซีด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ปกติแล้ว ไต จะสร้างฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก เมื่อเซลล์ไตเสียไป ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะถูกสร้างน้อยลงไปด้วย ส่งผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงของไขกระดูก
- มีน้ำในร่างกายมาก เนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำเหล่านั้นออกจากร่างกายได้ ทำให้เกิดอาการตัวบวม โดยมักเริ่มที่เท้าและรอบดวงตาก่อน
- เมื่อโรคเริ่มเป็นมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการของไตวาย โดยมีอาการ เช่น สับสน โคม่า จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตในที่สุด
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไต ?
โดยทั่วไปแล้วอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคไตจะไม่แสดงอาการล่วงหน้าให้เรารู้ จึงว่ากันว่า โรคไต นั้นเป็นโรคที่น่ากลัว เป็นดั่งเพชฌฆาตมืดที่คอยคุกคามชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นที่หน่วยกรองไตทีละเล็กละน้อย ผู้ป่วยจะยังไม่รู้สึกอะไร ต่อเมื่อความเสียหายนั้นมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเสียหายมากๆ อย่างฉับพลันจึงจะปรากฏอาการให้เห็น เมื่อถึงตอนนั้นเราก็แก้ไขอะไรไม่ทันเสียแล้ว
เมื่อหน่วยกรองไตเกิดความเสียหาย ต่อให้เราเดินทางไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก็ไม่อาจทำให้สภาพของหน่วยกรองไตกลับฟื้นมาอยู่ในสภาพเดิมได้ เพราะไตไม่ได้มีคุณสมบัติที่สามารถรักษาตัวเองได้เหมือนกับบางอวัยวะในร่างกาย ยกตัวอย่าง ระบบประสาท เมื่อเกิดความเสียหาย ก็ไม่สามารถทำการซ่อมแซมให้กลับมาเป็นปกติได้ ฉะนั้น การป้องกันไม่ให้โรคไตเข้ามาคุกคามเราจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากว่าเราสังเกตเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไตในระยะเริ่มต้น ตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ เดินทางไปพบแพทย์ได้ทันกับที่พบอาการ ก็เท่ากับเราสามารถชะลอความเสียหายของหน่วยกรองไตให้ช้าลงคล้ายกับการติดเบรค
นอกจากนั้นแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญที่อาจทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอาหารการกิน การใช้ชีวิต การทำงาน หรือแม้แต่การต้องทนอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงกดดัน ฉะนั้น ลองมาดูกันดีกว่าว่า 7 พฤติกรรมแบบไหนที่อาจทำร้าย “ไต” ของเราได้
7 พฤติกรรมแบบไหนที่อาจทำร้าย “ไต”
-
ทานอาหารรสจัด
ไม่ใช่แค่รสเค็มจัด แต่อาหารรสจัดรวมไปถึง อาหารหวานจัด เผ็ดจัด หรือแม้กระทั่งมันจัด อาหารรสจัดทำให้ไตทำงานหนักขึ้น จึงมีส่วนทำให้เป็นโรคไตได้เช่นเดียวกันกับอาหารรสเค็ม
-
ไม่ออกกำลังกาย
การไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุของหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน ไขมันอุดตันเส้นเลือด ไขมันพอกตับ เส้นเลือดอุดตัน โรคหัวใจ และอื่นๆ รวมไปถึงโรคไตด้วยเช่นกัน
-
ดื่มน้ำน้อย หรือมากเกินไป
การดื่มน้ำน้อยเป็นสาเหตุของหลายๆ โรคเช่นกัน รวมไปถึงโรคไตด้วย เพราะไตฟอกของเสียในร่างกาย และต้องใช้น้ำเป็นตัวพาไปสู่การกรองของไตจนกลายเป็นปัสสาวะ หากดื่มน้ำมากเกินไป ไตก็จะทำงานหนักเกินไป แต่หากดื่มน้ำน้อยมากเกินไป (ซึ่งมีโอกาสมากกว่า) ก็จะทำให้ปัสสาวะมีสีเข้ม ซึ่งไม่ดีต่อไต และกระเพาะปัสสาวะด้วย
-
ทำงานหนักเกินไป
เชื่อหรือไม่ว่าการทำงานหนักก็เป็นสาเหตุของโรคไตด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อร่างกายขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ อวัยวะภายในร่างกายก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟู และซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่ออวัยวะที่คอยฟอกของเสียในร่างกายอย่างไตไม่ได้หยุดทำงาน ก็อาจทำให้ไตเสื่อมสภาพลงได้ง่าย
-
ความเครียด
ความเครียดมักมาพร้อมกับการทำงานหนัก หากเครียดมากๆ ร่างกายก็จะพักผ่อนได้ไม่เต็มที่เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เมื่อเราเครียด เราจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าร่างกาย เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้ไม่เต็มที่ และไตก็เป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากความเครียดด้วยเช่นกัน
-
ทานอาหารสำเร็จรูป
แม้ว่าคุณอาจจะบอกว่าไม่ใช่คนทานเค็ม แต่หากคุณใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋องต่างๆ หรือแม้กระทั่งน้ำอัดลม โซดา และเครื่องดื่มบางประเภท คุณจะได้รับโซเดียมเข้าไปในร่างกายในปริมาณสูงโดยที่คุณไม่รู้ตัว ดังนั้นทานให้น้อยลงหน่อยนะ
-
ความดันโลหิตสูง
หากใครมีอาการความดันโลหิตสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคไตตามมาด้วย เพราะหากปล่อยให้เป็นความดันสูงต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่รีบรักษา ความดันโลหิตสูงนี้จะทำลายเส้นเลือดที่ไต ทำให้ไตถูกทำลาย หรืออาจเรียกว่าเป็น “ไตวายชั่วคราว”
รู้อย่างนี้แล้ว ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว ก่อนที่จะเป็นโรคไตแล้วต้องไปฟอกไตทุกวันนะคะ ขอบอกเลยว่าไม่สนุกแน่ๆ
กินหวาน + กินมัน + กินเค็ม + ความดัน เสี่ยงไตพัง
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันว่าสาเหตุของการเกิด ‘โรคไต’ นั้นมาจาการกินอาหารที่มีรสเค็มจัดเพียงอย่างเดียว แต่รู้หรือไม่ว่าการกินอาหารที่มีรสหวาน หรืออาหารมัน บวกเข้ากับพฤติกรรมของคนโดยเฉพาะคนเมืองที่ทำงานหนัก มีความเครียด ซ้ำยังไม่ชอบออกกำลังกาย มักกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมาก ทำงานหนัก นอนดึกตื่นเช้า ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงที่เป็นตัวตั้งต้นของโรคไต
ส่วนโรคเบาหวานนั้นมักมาพร้อมกับภาวะความดันโลหิตสูงและโรคอ้วน ซึ่งในช่วงหลังๆ นี้พบบ่อยและมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของการพบโรคไตไปโดยปริมาณ หากอธิบายให้เข้าใจ ‘โรคเบาหวาน’ นั้นเป็นโรคที่เกิดจากการมีน้ำตาลในเลือดสูง สะสมไว้ไม่ควบคุมนานๆ 10 – 20 ปีขึ้นก็อาจทำให้เกิดการเส้นเลือดตีบ หากมีเส้นเลือดตีบในไตก็จะเป็นไตวายในที่สุด ส่วนการมีภาวะความดันโลหิตสูงถ้าปล่อยไว้นานๆ เส้นเลือดภายในไตก็จะถูกทำลาย แต่ก็มีความแตกต่างจาก ‘อาการไตวายเฉียบพลัน’ ที่โดยส่วนใหญ่จะทำให้เสียเลือดมาจนช็อก พอไม่มีเลือดไปเลี้ยงไต ไตก็จะหยุดทำงาน เรียกว่า ‘ไตวายชั่วคราว’ ถ้าได้รับการรักษาภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ก็ยังมีโอกาสที่ไตจะสามารถฟื้นตัวกลับมาทำงานได้ตามปกติ
‘โรคไต’ รักษาได้อย่างไร ?
ในทางการแพทย์มีแนวทางการรักษาโรคไตได้ด้วย 4 วิธีหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ ..
- การตรวจและการวินิจฉัยโรคไตที่เหมาะสม : เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็ว แพทย์จะต้องมีความชำนาญในการตรวจและวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตให้ถูกต้องตั้งแต่ระยะต้นๆ จึงจะมีโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีกว่า แต่หากยังไม่แน่ใจว่าเป็นโรคนี้ เพียงแต่มีความสงสัย แนะนำว่าให้เกิดทางมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจและวินิจฉัยอยู่เป็นประจำ
- การรักษาโดยมองจากสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคไต : เมื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรคได้ แพทย์อาจจะเริ่มรักษานิ่วในไต , การหยุดยาที่เป็นพิษต่อไต , การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งการทำเช่นนี้ผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ผู้รักษาอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับการให้ยาที่เหมาะสมกับโรคเนื้อไตอักเสบแต่ละชนิด จึงจะทำให้การรักษาได้ผลอย่างดีที่สุด
- การรักษาช่วยชะลอความเสื่อมของไต : ถึงแม้ว่าแพทย์จะทำการรักษาโดยมองจากสาเหตุของการเกิดโรคไตเป็นสำคัญแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางราย หรืออาจนับเป็นจำนวนมากที่ไตมีการทำงานเสื่อมลงมากกว่าปกติ เนื่องจากเนื้อไตบางส่วนอาจถูกทำลาย เนื้อไตส่วนดีที่เหลืออยู่จึงต้องทำงานหนักกว่าปกติ จึงเป็นเหตุให้ไตเสื่อมได้ง่ายมากขึ้นตามระยะเวลาและอาจเกิดไตวายในที่สุด ฉะนั้น การชะลอการเสื่อมของไต แพทย์อาจแนะนำให้ควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับการทำงานของไตที่เหลืออยู่ , การใช้ยาเพื่อช่วยปรับสารต่างๆ ที่เป็นพิษต่อไต , การควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น
แพทย์รู้ได้อย่างไรว่าเป็น ‘โรคไต’
การเดินทางเพื่อไปตรวจหาและรักษาโรคไตกันตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยยับยั้งความเสื่อมของไตไม่ให้เข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ อีกทั้งยังเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้อีกด้วย การที่แพทย์จะทราบว่าเราเป็น ‘โรคไต’ หรือ ‘โรคไตวายเรื้อรัง’ หรือไม่ และอยู่ในระยะใดนั้น สามารถทำได้โดยเข้าตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะเพื่อดูปริมาณโปรตีนและจำนวนเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ตรวจเลือดเพื่อวัดระดับสารครีอะตินีนที่ปกติจะถูกไตกำจัดออกไปทางปัสสาวะ ซึ่งจะถูกนำมาใช้คำนวณอัตราการกรองของไต นอกจากนั้น ในผู้ป่วยบางรายก็จะได้รับการเอกซเรย์ระบบทางเดินปัสสาวะและตรวจชิ้นเนื้อไตเพิ่มเติมด้วย
ภาพประกอบจาก istockphoto
ขอบคุณรูปภาพจาก : sanook.com
ขอบคุณแหล่งที่มา : sanook.com
ติดตามข่าวสาร ได้ที่ : thaigoodherbal.com