แค่ช่วง 2 วันแรกของศึก ฟุตบอลโลก 2022 มันก็มีเรื่องที่ให้คนพูดถึงกันหลายเรื่องแล้ว
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่มันมีการทดเวลาบาดเจ็บเยอะมากจนทำให้แฟนบอลต้องนั่ง (หรือยืน) เชียร์กันนานกว่าปกติ
เกมที่ อังกฤษ ชนะ อิหร่าน 6-2 นั้น มีการทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งแรก 14.08 นาที ส่วนของครึ่งหลังอยู่ที่ 13.08 นาที คิดรวมกันเป็น 27.16 นาที ส่วนเกมที่ ฮอลแลนด์ ทุบ เซเนกัล 2-0 มันมีการทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งหลังถึง 10.03 นาที ขณะที่การเสมอกันระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ เวลส์ ก็ต้องทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งหลัง 10.34 นาทีด้วยกัน
– ขุมกำลังเจ๋งกว่าปี2014!ฟานกัลมั่นฮอลแลนด์มีดีพอซิวแชมป์โลก
– ร่วมแรงร่วมใจ!มาเน่เร้าคนทั้งชาติช่วยเชียร์เซเนกัลอย่างเต็ม
– แกร่งทั่วแผ่น!คาฟูฟันธงบราซิลผงาดแชมป์โลก
แน่นอน ที่ผ่านมาอาจจะมีบางเกมที่มีการทดเวลาบาดเจ็บเยอะ อย่างเช่นเกม คาราบาว คัพ เมื่อปี 2019 นัดระหว่าง เบอร์ตัน อัลเบี้ยน กับ บอร์นมัธ ที่มีการทดเวลาบาดเจ็บนานถึง 28 นาทีจากการที่ไฟดับจนต้องหยุดเตะไปพักใหญ่ แต่ที่ผ่านมาอัตราการเกิดเกมแบบนั้นจะมีนานๆ ครั้ง ไม่ได้เกิดถี่ยิบอย่างในศึก ฟุตบอลโลก 2022
ทั้งนี้ คนสำคัญที่ทำให้เกิดการทดเวลาบาดเจ็บนานถึงหลายนัดในศึก ฟุตบอลโลก 2022 ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น ปิแอร์ลุยจิ คอลลิน่า อดีตกรรมการระดับโลกนั่นเอง
แฟนบอลรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่คุ้นชื่อของ คอลลิน่า นั้น เราต้องขอเกริ่นก่อนว่านี่คือคนที่เคยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็น “กรรมการที่ดีที่สุดในโลก” แน่นอนว่ามันมีบางจังหวะที่เขาตัดสินผิดพลาด แต่จังหวะที่เขาตัดสินได้ถูกต้องนั้นมีเยอะกว่ามากจนเรียกได้ว่าคุณภาพโดยรวมในการตัดสินของเขามันสูงระดับเกิน 5 ดาว แถมเขายังเป็นคนที่เข้มงวดและไม่ยอมโอนอ่อนให้กับนักเตะหรือกุนซือคนไหนง่ายๆ ด้วย จนทำให้คนทั้งนับถือและยำเกรงเขา
แม้ว่าจะแขวนนกหวีดไปตั้งแต่ปี 2005 แต่ตัว คอลลิน่า เองก็ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงฟุตบอล โดยปัจจุบันเขาเป็นประธานคณะกรรมการของวงการผู้ตัดสินประจำสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แถมยังมีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (ไอเอฟเอบี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกฎและข้อบังคับของวงการลูกหนังด้วย
สำหรับตัว คอลลิน่า เองนั้น พยายามที่จะปรับเปลี่ยนกฎการทดเวลาบาดเจ็บตั้งแต่ศึก ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพแล้ว และเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาก็มองว่าช่วงเวลาที่เกมเตะกันในสนามจริงๆ มีเพียงนิดเดียว ส่วนที่เหลือหมดไปกับเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นการฉลองประตูที่นานเกินไป, การทุ่ม, การเตะเปิดเกมจากปากประตู หรือการใช้แท็กติกถ่วงเวลา

คอลลิน่า ให้สัมภาษณ์กับ กัลเชียโทรี่ บรูตติ สื่อของอิตาลีเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า
“ในฐานะแฟนบอลแล้วน่ะผมต้องเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปชมเกมในสนาม หรือไม่ก็นั่งดูอยู่หน้าจอทีวีที่บ้าน แต่ผมได้เห็นเกมเล่นกันจริงๆ แค่ 44, 45 หรือ 46 นาทีเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของตั๋วที่ผมเสียเงินซื้อมันหมดไปกับเวลาที่ไม่ได้มีการเตะบอลกัน เวลาส่วนใหญ่ที่เสียไปน่ะมันไปอยู่กับลูกทุ่มหรือไม่ก็การเตะจากปากประตู”
“จริงอยู่ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหลักของเกมฟุตบอล แต่ใช้เวลาไปกับลูกทุ่มทั้งหมดรวมแล้ว 8-9 นาทีเนี่ยนะ ? ลูกตั้งเตะจากปากประตูกินเวลารวมกัน 8-9 นาทีงั้นเหรอ ? พอคิดได้แบบนั้นเราเลยมานั่งพิจารณากัน ถ้าเราจะให้มันมีความเที่ยงตรงมากขึ้นสักนิดแล้วล่ะก็ เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับยุคที่การทดเวลาบาดเจ็บ 9 นาทีจะเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันการทดเวลา 9 นาทีดูเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่เราจำเป็นต้องทำให้คนที่อยากดูเกมมีโอกาสได้ดูการเล่นจริงๆ มากกว่านี้สักนิด”
ดังนั้น หลังจากหารือกันอย่างละเอียดแล้วนั้น คอลลิน่า และผู้ที่เกี่ยวข้องเลยออกกฎว่าหลังจากนี้ไปมันจะมีการชดเชยเวลาที่เสียไปให้เหมาะสมมากขึ้น นั่นก็คือทุกเหตุการณ์ที่ทำให้เกมหยุดเล่น “จะถูกนำไปนับรวมเป็นช่วงทดเวลาบาดเจ็บทั้งหมดแบบไร้ข้อยกเว้นใดๆ ทั้งนั้น” ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีคนได้รับบาดเจ็บ, จังหวะเปลี่ยนตัว, การตั้งใจถ่วงเวลา หรือแม้แต่การฉลองประตู
ทั้งนี้ ในช่วงไม่นานก่อนที่ศึก ฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้นนั้น คอลลิน่า ก็เคยเกริ่นแล้วว่าให้เตรียมเจอกับเกมที่จะมีการทดเวลาบาดเจ็บแบบนานๆ หลายนัดได้เลย “สิ่งที่เราทำได้ใน รัสเซีย คือการทำให้มันมีการทดเวลาบาดเจ็บอย่างถูกต้องมากกว่าเดิม เราขอบอกกับทุกคนเลยว่าอย่าได้แปลกใจถ้าหากพวกเขาจะเห็นผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายไฟฟ้าที่บอกว่าจะมีการทดเวลานาน 6, 7 หรือ 8 นาที”
“ถ้าคุณอยากจะให้มันมีการเล่นในสนามมากขึ้น เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทดเวลาบาดเจ็บนานๆ ลองนึกภาพตามดูนะว่าสมมุติมีเกมหนึ่งมีการทำได้ 3 ประตู ซึ่งปกติแล้วการฉลองน่ะจะกินเวลา 1 นาที ไม่ก็ 1 นาทีครึ่ง นั่นหมายความว่าเมื่อมีการทำ 3 ประตู คุณก็จะเสียเวลาไปถึง 5 หรือ 6 นาทีเลย”
“สิ่งที่เราอยากจะทำคือการทำให้การทดเวลาบาดเจ็บในแต่ละครึ่งมันเป็นไปด้วยความเที่ยงตรง ซึ่งผู้ตัดสินที่ 4 สามารถทำแบบนั้นได้ (หมายถึงคำนวณว่าต้องทดเวลาบาดเจ็บนานเท่าไหร่) เราเคยประสบความสำเร็จอย่างนั้นกับที่ รัสเซีย ไปแล้ว และเราก็คาดหวังว่าที่ กาตาร์ มันจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน”
ด้วยเหตุนี้ หลังจากนี้มันเลยน่าจะมีอีกหลายเกมที่จะมีการทดเวลาบาดเจ็บกันเป็นเวลานาน และแฟนๆ ก็อาจจะต้องเตรียมเสบียงมารอมากกว่าที่คิดเพื่อที่จะได้ดูเกมจนจบในแต่ละครึ่งได้โดยไม่ต้องลุกไปหาของกินเพิ่มนั่นเอง
https://have-a-look.net/2022/11/22/%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b9%81%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%a5%e0%b8%b8%e0%b8%a2%e0%b8%88%e0%b8%b4-%e0%b8%84%e0%b8%ad%e0%b8%a5%e0%b8%a5%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%88%e0%b8%b2-%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89/
|